ในช่วงต้นของสัปดาห์หน้า ก็จะกลุ่มมหาอำนาจชาติชั้นนำทางเศรษฐกิจของโลกเรา ก็จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำที่ต้องจับตาติดตามกันอีกเวทีหนึ่ง

นั่นคือ “การประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ “จี 7 ซัมมิต” ครั้งที่ 51 ประจำปี 2025 (พ.ศ. 2568) ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 15 – 17 มิถุนายนที่จะถึงนี้ อันประกอบด้วย 7ชาติสมาชิกหลัก ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ก่อนที่ในเวลาต่อมาได้นำสหภาพยุโรป หรืออียู เข้าร่วมเป็นสมาชิกในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ดี เมื่อช่วงก่อนหน้าจี 7 ก็มี “รัสเซีย” เป็นประเทศสมาชิกด้วย เรียกว่า “จี 8” เพราะเพิ่มรัสเซียเข้ามาในภายหลัง ก่อนที่จะถูกขับออกพ้นสมาชิก จากสาเหตุที่รัสเซีย ไปผนวกแคว้นไครเมียของยูเครน เข้ามาเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย เมื่อปี 2014 (พ.ศ. 2557)

นายมาร์ก คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดา (Photo : AFP)

ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ทาง “ประเทศแคนาดา” รับหน้าเสื่อเป็น “เจ้าภาพ” จัดการประชุม โดยจะจัดขึ้นที่เมืองคานานาสกิส รัฐแอลเบอร์ตา โดยผู้นำแคนาดา คือ นายมาร์ก คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่เพิ่งรับไม้ต่อจากนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้า เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่นายทรูโด ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเสรีนิยม เพราะคะแนนนิยมที่ตกต่ำ ทำให้ต้องเลือกหัวหน้าพรรคกันใหม่ ซึ่งนายคาร์นีย์ชนะมา ก่อนจะพาพรรคเสรีนิยมคว้าชัยในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน หรืออีก 1 เดือนหลังจากนั้น

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงนายคาร์นีย์แล้ว ก็ถูกยกให้เป็นอีกหนึ่งผู้นำคู่ปรปักษ์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ จากการที่ไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อประธานาธิบดีทรัมป์ ที่จะผนวกแคนาดา เป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ

นายมาร์ก คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีแคนาดา พบปะกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (Photo : AFP)

ก็ทำให้เป็นที่จับตาจ้องมองของบรรดาชาวโลกว่า สถานการณ์และบรรยากาศการประชุมจี7 ซัมมิต หนนี้ ที่ทางประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯ อาคันตุกะผู้มาเยือน กับนายกรัฐมนตรีคาร์นีย์แห่งแคนาดา ในฐานะเจ้าภาพ จะมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร?

กล่าวถึงจุดประสงค์หลักๆ ของการประชุมสุดยอดจี 7 ก็จะเป็นเวทีสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของเหล่าชาติสมาชิก แต่ปรากฏว่า ก็มีเรื่องการเมือง การทหาร ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เข้ามาแทรกปน ยกตัวอย่างกรณีกับรัสเซียผนวกแคว้นไครเมียของยูเครนตามที่กล่าวแล้วข้างต้น

ล่าสุด ในการประชุมสุดยอดจี 7 ซัมมิต ที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงต้นของสัปดาห์หน้านี้ ที่ประเทศแคนาดา ก็อาจจะได้เห็นบรรดาผู้นำชาติสมาชิกจี 7 สำแดงเดชใช้เวทีการประชุมสุดยอดที่จะมีขึ้นนี้ นำไปใช้เป็นเวทีการต่างประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน ตามจุดประสงค์หลักของจี7 ในเบื้องต้น

ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ก็เปิดเผยถึงท่าทีก่อนหน้านี้แล้วว่า อยากจะให้จี 7 ดึงรัสเซีย หวนกลับมาชาติภาคีสมาชิกกันอีกคำรบ

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า น่าจะเป็นเรื่องยาก ชาติสมาชิกจี7 อื่นๆ คงไม่เอาด้วย เพราะรัสเซีย ยังคงมีปัญหาเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งรัสเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เป็นผู้ก่อสงครามนี้ขึ้น ในฐานะชาติผู้รุกรานยูเครน เมื่อกว่า 3 ปีก่อน ที่ ณ ปัจจุบัน ยังคงแลกหมัดโจมตีระหว่ากันอย่างดุเดือดอยู่เลย

นอกจากนี้ ก็มีรายงานว่า “แคนาดา” ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคาร์นีย์ ก็จะใช้ความเป็นชาติเจ้าภาพ ถือโอกาสนี้ใช้จี 7 ซัมมิต เป็นเวทีทั้งกระชับความสัมพันธ์ และฟื้นฟูความสัมพันธ์กับบางประเทศด้วย

นายอี แจ-มยอง ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ (Photo : AFP)

นั่นคือ แคนาดา จะใช้เวทีจี 7 ซัมมิตนี้ กระชับความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเชิญชวนนายอี แจ-มยอง ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่ ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งและเข้ามาดำรงตำแหน่งเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว ให้มาเข้าร่วมประชุมในเวทีนี้

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดากับเกาหลีใต้แล้ว ก็เริ่มมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แคนาดารับรองเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการ และเข้ามามีส่วนในการกำกับดูแลการเลือกตั้งในเกาหลีใต้ หลังเสร็จสิ้นสงครามโลกดังกล่าว ตลอดจนสนับสนุนเกาหลีใต้ ในการทำสงครามเกาหลี ต่อต้านการรุกรานของกองทัพเกาหลีเหนืออีกด้วยต่างหาก

และเมื่อถอยหลังกลับไปในคริสต์ศวรรษที่ 19 ก่อนแบ่งแยกเกาหลีเหนือ – เกาหลีใต้ ทางแคนาดา ก็ถือเป็นชาวตะวันตกกลุ่มแรกที่มาเยือนคาบสมุทรเกาหลีแห่งนี้ และนักบวชคริสต์ของแคนาดาอีกเช่นกัน ที่เป็นผู้บุกเบิกการทำ “พจนานุกรมภาษาเกาหลี-อังกฤษ” ขึ้น

ส่วนการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทางแคนาดา ชาติเจ้าภาพจัดการประชุม ก็จะใช้จี 7 ซัมมิตครั้งนี้ เป็นเวทีฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดากับอินเดีย หลังจากที่ระหองระแหงกันมาในยุคสมัยของนายกรัฐมนตรี “จัสติน ทรูโด” ของแคนาดา

นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาครั้งอดีต กับนายนเรนทรา โมทิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย พบปะกัน ก่อนทั้งสองประเทศพิพาทกันอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา (Photo : AFP)

โดยข้อพิพาทระหว่างแคนาดากับอินเดียนั้น ก็มาจากข้อกล่าวหาจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทรูโด ที่ตีตราชี้หน้าว่า รัฐบาลอินเดียของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมทิ อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารนายฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ สมาชิกคนสำคัญของขบวนการคาลิสถาน อันเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์ในอินเดีย ที่เข้ามาพำนักในเมืองเซอร์เรย์ รัฐบริติชโคลัมเบีย แคนาดา เมื่อปี 2023 (พ.ศ. 2566)

สถานการณ์และบรรยากาศของการพิพาท ก็ลุกลามบานปลายไปถึงขนาดทำให้ทั้งแคนาดาและอินเดีย ต่างขับไล่เจ้าหน้าที่ทูตของแต่ละฝ่าย ออกพ้นประเทศกันเลยทีเดียว รวมถึงประกาศแนะนำพลเมืองของตน ไม่ให้เดินทางไปในประเทศของแต่ละฝ่ายอีกต่างหากด้วย

ชาวซิกข์ในแคนาดาจัดกิจกรรมต่อต้านนายนเรทรา โมทิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย หลังเกิดเหตุสังหารนายฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ สมาชิกคนสำคัญของขบวนการคาลิสถาน ถึงในประเทศแคนาดา ก่อนบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศตามมา (Photo : AFP)

อย่างไรก็ดี หลังแคนาดาฟ้าเปลี่ยนสี มาเป็นยุคของนายกรัฐมนตรีคาร์นีย์ ก็ได้เซย์ฮัลโหล สนทนาทางโทรศัพท์เชิญชวนให้นายกรัฐมนตรีโมทิของอินเดีย เดินทางมาเข้าร่วมประชุมสุดยอดจี7 ซัมมิต ที่แคนาดาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขึ้น ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีอินเดีย ก็ตอบรับคำเชิญด้วยดี ก่อนแสดงความพร้อมที่จะขยับปรับความสัมพันธ์จากเดิมที่เลวร้าย ให้หวนกลับมาสู่สถานการณ์ปกติกันอีกครั้ง