เมื่อเวลา 15.40 น. วันที่ 27 ก.พ. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เดินทางไปยังตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เพื่อเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวเมืองปัตตานี  อาทิ บ้านขุนพิทักษ์รายา ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศอนุรักษ์ศิลปะ สถาปัตยกรรมของยูเนสโก เมื่อปี 2563  ก่อนจะเดินมาเยี่ยมชมบ้านเลขที่  5 กือดาจีนอ ซึ่งมีอายุ 172 ปี  และเดินทักทายประชาชนตลาดวัฒนธรรมกือดาจีนอ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว)  โดยมีประชาชนขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ทั้งนี้ นายกฯได้ร่วมถ่ายรูปเซลฟี่กับประชาชน อย่างเป็นกันเอง

 

ทั้งนี้ ในช่วงหนึ่งมีประชาชนตะโกนบอกว่ายินดีต้อนรับ พร้อมกับบอกว่า “ตัวจริงหนุ่มกว่าในทีวีอีก ”โดยนายกฯอมยิ้มรับ

 

จากนั้นนายกฯ เดินชมตลาดซงจื่อ โดยชาวบ้านได้มอบเสื้อผ้าบาติกสีแดง และลูกปัดมโนราห์ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาพัฒนาต่อยอดสู่ศิลปะทางวัฒนธรรมบ้านรอยรักโนราห์ ของชุมชนคุณธรรมโรงเรียนภาษีเก่า(วัดเลียบ) ให้นายกฯด้วย  ก่อนที่นายกฯจะอุดหนุนเกี้ยวจำลองเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนียว

 

ต่อมานายกฯ แวะร้านเลี่ยนโฮ่ฮวด โชว์ฝีมือทำขนมเบื้องญวน ซึ่งจะทำปีละครั้งในงานเทศกาลเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนียว  ก่อนนั่งชิมขนมเบื้องญวนที่ตนเองทำ และชิมขนมโคปัตตานี ซึ่งทำปีละครั้งในงานเดียวกัน ก่อนจะเรียกน.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา และนางพาตีเมาะ สะดีนามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

 

จากนั้นนายกฯ สักการะศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว  และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว  ก่อนชมการแสดงเชิดสิงโตบนเสาดอกเหมย เพื่อเป็นการต้อนรับบุคคลสำคัญ  ทั้งนี้ สิงโต ได้มอบลูกแก้วให้กับนายเศรษฐา โดยนายกฯได้มอบอั่งเปาเป็นรางวัล  ก่อนที่สิงโตจะอวยพรให้นายกฯอายุมั่นขวัญยืนเฮงๆรวยๆ

 

ต่อมาเวลา  17.55น.นายกฯ โพสต์ข้อความผ่าน X ระบุว่า มาเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวเมืองปัตตานี ได้แก่ บ้านขุนพิทักษ์รายา, บ้านเลขที่ 5 กือดาจีนอ, ตลาดวัฒนธรรมกือดาจีนอ ตลาดซงจื่อ และศาลเจ้าเล่งจูเกียง (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) ครับ สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้เชื่อมโยงสถานที่สำคัญบนถนนสายวัฒนธรรมในย่านการค้าดั้งเดิมของเมืองท่าปัตตานี ชื่อ เส้นทาง อา-รมย์-ดี ย่อมาจากชื่อถนน 3 สาย คือ อาเนาะรู-ปัตตานีภิรมย์-ฤดี 

 

เราจะจัดทำให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางพหุวัฒนธรรม เพื่อเรียนรู้ความสำคัญของเมืองท่าปัตตานี การติดต่อค้าขาย และความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมมลายูผ่านรูปแบบของอาคารบ้านเรือน ศิลปะ สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตของชาวปัตตานีครับ

 

นอกจากนี้ ผมอยากยกระดับการอนุรักษ์เมืองเก่า โดยเสนอให้ย่านเมืองเก่าปัตตานี เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับเมืองเก่าฮอยอันในประเทศเวียดนาม และเมืองเก่าสงขลา เป็นต้น โดยเน้นความเชื่อมโยงในลักษณะพหุวัฒนธรรมที่ผสมผสานด้วยกันระหว่าง ไทย จีน และมุสลิม

 

ผมยังได้เยี่ยมชมมหกรรมท่องเที่ยวปัตตานีอาเซียน "กตัญญูคู่ฟ้ามหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปัตตานี" ประจำปี 2567 ด้วย ผมอยากยกระดับงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ให้ได้รับความนิยม และอยากให้ศาลเจ้าแม่ฯ เป็นหมุดหมายของผู้ศรัทธาจากทั่วโลกครับ