นับตั้งแต่มีการจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์แห่งแรกขึ้นในประเทศไทย จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 108 ปี ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นบทพิสูจน์ได้ว่าความสามัคคี ความจริงใจของกลุ่มคน เพื่อร่วมกันคิดร่วมกันทำ และร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามรูปแบบของสหกรณ์ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกสาขาอาชีพให้มีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแท้จริง

พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทยได้ทรงส่งเสริมให้ก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรก คือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ณ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และทรงเป็นนายทะเบียนสหกรณ์ (พระองค์แรก) รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์แห่งแรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459  ตามรูปแบบสหกรณ์ เครดิตแบบไรฟ์ไฟเซน ที่ได้รับความสำเร็จ มาแล้วในประเทศอินเดีย และพม่า ซึ่งทั้งสองประเทศได้ส่งคนไปศึกษาจากประเทศเยอรมนี นับเป็นการเริ่มต้นของสหกรณ์ในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์

รัฐบาลไทยได้นำระบบสหกรณ์มาใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพของประชาชน และใช้เป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 รวมทั้งได้ให้ความสำคัญ โดยกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย วิธีการสหกรณ์ได้แพร่ขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีการเพิ่มจำนวนและแบ่งประเภทของสหกรณ์ให้เข้ากับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งและความเปลี่ยนแปลงตามสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในปัจจุบันสหกรณ์แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สหกรณ์ร้านค้าและสหกรณ์บริการ ปัจจุบันมีสหกรณ์ที่มีสถานะดำเนินงาน จำนวน 6,316 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.พ. 2567)

 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9  ทรงนำวิธีการสหกรณ์มาใช้ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในชนบท รวมทั้งโครงการตามพระราชดำริหลายโครงการซึ่งจะมีสหกรณ์เข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวบ้าน การรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพ มีการพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ ส่งผลทำให้ชุมชนเกิดความรักความสามัคคีและมีความเจริญก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ

ดังตัวอย่างโครงการหุบกะพง หรือ โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นโครงการจัดที่ดินทำกินช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อนจากการขาดแคลนที่ดินทำกินทำให้มีปัญหาในด้านอาชีพและรายได้ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจับจองที่ดินตามขั้นตอนของกฎหมาย นำมาจัดทำโครงการในรูปแบบของหมู่บ้านสหกรณ์ ซึ่งหน่วยงานราชการได้สนับสนุนการฝึกอบรมเกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการของสหกรณ์ จนสมาชิกได้มีความเข้าใจดีพอแล้ว จึงมีการจดทะเบียนจัดตั้ง เป็นสหกรณ์การเกษตร ใช้ชื่อว่า “สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานกลางในการประสานการดำเนินงานและจัดการเรียนรู้

ต่อจากนั้นมาได้มีการสืบสานต่อยอดมาถึงโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร ตั้งอยู่ที่ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เป็นหนึ่งในหลายโครงการพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงห่วงใยพสกนิกร และพระราชทานพระราชดำริในการแก้ปัญหาด้านเกษตรกรรมของพสกนิกรที่ประสบปัญหาน้ำท่วมไร่นาซ้ำซากในฤดูฝน และแล้งสุดขีดเมื่อสิ้นฤดู จากปัญหาที่ทรงพบเห็น พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาขุดลอกหนองอึ่งเพื่อเป็นแหล่งน้ำทำการเกษตรและขยายพันธุ์ปลา และพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ สภาพดินรอบหนองอึ่ง โดยปลูกต้นไม้และหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ฟื้นฟูสภาพป่ารอบหนองอึ่ง เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูลกัน พัฒนาพื้นที่เรื่องน้ำพร้อมกับเรื่องป่า

สำนักงานป่าไม้จังหวัดยโสธรเข้าไปดำเนินการพื้นฟูให้ป่าดงมัน เพื่อสนองพระราชดำริ “ฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูล” มีการทำประชาคมใน 7 หมู่บ้านรอบโครงการ ขอคืนพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟู ซึ่งประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี เพื่อพัฒนาร่วมกันเป็นป่าชุมชนที่ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และก่อตั้ง “ป่าชุมชนดงมัน 3,006 ไร่” กรมป่าไม้ได้ฟื้นฟูสภาพป่าตามแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” โดยปลูกพันธุ์ไม้ยางนา พะยอม และสังเกตจนค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างพันธุ์ไม้วงศ์ยางที่มักอยู่ร่วมกับเชื้อเห็ดป่า (ไมคอร์ไรซา) ซึ่งต่อมาถูกพัฒนาเป็นแนวคิดเพาะชำกล้าไม้วงศ์ยางที่ติดเชื้อเห็ดป่า ทำให้ต้นไม้มีคุณสมบัติทนความแห้งแล้ง เติบโตได้ดีในพื้นที่วิกฤตเพื่อเป็นแหล่งอาหารสำหรับชุมชน

หลังจากพัฒนาปรับปรุงพื้นที่และฟื้นฟูป่าแล้ว ในพื้นที่มีผลผลิตการเกษตรและมีของป่าจำนวนมาก จึงมีการพัฒนาต่อยอดแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้เก็บได้นานและเป็นการเพิ่มมูลค่า เช่น เห็ดโคนในน้ำเกลือ เห็ดเผาะในน้ำเกลือ ไข่มดแดงในน้ำเกลือ น้ำพริกเห็ดระโงก ซึ่งปัจจุบันมีชาวบ้านราว 70 รายรวมตัวกันตั้งสหกรณ์การเกษตร ในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัด แปรรูปผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อแบรนด์ “วนาทิพย์” มีรายได้ปีละล้านกว่าบาท 

นอกจากนี้วิชาสหกรณ์ยังได้ขยายไปในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ด้วยการส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนวิชาสหกรณ์ในโรงเรียน และปลูกฝังหลักการและวิธีการสหกรณ์ไปสู่เยาวชน โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นว่าระบบสหกรณ์ เป็นระบบเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ทุรกันดาร จึงมีพระราชดำริให้มีการจัดตั้งสหกรณ์นักเรียนในโรงเรียนขึ้น โดยเริ่มที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ภายใต้โครงการตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องของสหกรณ์นักเรียน ระหว่างโรงเรียนต่าง ๆ เป็นศูนย์กลางพัฒนาเด็กและเยาวชนให้ได้รับโอกาสและเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชาวบ้านในชุมชน ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และมีทักษะในการทำงานร่วมกัน ฝึกการวางแผน ร่วมกันคิดร่วมกันทำและแก้ไขปัญหาตามแนวคิดและวิธีการของสหกรณ์

 ในโอกาสครบรอบ 108 ปี สหกรณ์ไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาระบบสหกรณ์ตามแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) ภายใต้วิสัยทัศน์ สหกรณ์เข้มแข็งและเป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก นำไปสู่สหกรณ์เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน