"ผู้ว่าแบงก์ชาติ" ยังเสียงแข็ง ให้สัมภาษณ์สื่อญี่ปุ่นยันเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติ ไม่ควรเร่งลดดอกเบี้ย หวั่นกระทบเสถียรภาพการเงิน
จากกรณีที่ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ออกมาแถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไทย ปี 2566 เติบโตเพียงแค่ 1.9% ต่อปี ปรับลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่คาดจะเติบโต 2.5% พร้อมกับปรับลดคาดการณ์ของปี 2567 ลงด้วย จากเดิมคาดว่าจะโตเฉลี่ย 3.2% เหลือโตเฉลี่ยแค่ 2.7%
โดยแนะให้ใช้มาตรการด้านการเงินต้องเข้ามามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้า โดยเฉพาะการลดภาระครัวเรือนและเอสเอ็มอี อาทิ อัตราดอกเบี้ยต่างๆ ต้องพิจารณาจริงจัง ไม่ว่าจะอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนต่างดอกเบี้ย เพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง แต่การปรับลดดอกเบี้ย ธนาคารแห่งระเทศไทย (ธปท.) ต้องเป็นผู้พิจารณา หากสามารถทำได้เร็ว น่าจะมีส่วนช่วยได้พอสมควร ตามที่ได้เคยเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ก.พ.67 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิกเกอิของญี่ปุ่น ว่า มองว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยการผ่อนคลายนโยบายการเงินก่อนเวลาอันควรนั้น จะทำให้เสถียรภาพด้านการเงินของไทยเผชิญกับความเสี่ยง
ทั้งนี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฏจักรในระบบเศรษฐกิจของไทย แต่กลับจะทำให้เสถียรภาพด้านการเงินเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่อพิจารณาจากหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 90% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ แต่ก็ยังคงฟื้นตัว
นอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิ ยังเปิดเผยเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ว่า ความสัมพันธ์เป็นแบบเป็นมืออาชีพและมีความจริงใจ แต่ยังมองว่าตัวเลขจีดีพี 1.9% ที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงนั้นไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤติ เพราะการฟื้นตัวแม้อ่อนแอ แต่ก็ฟื้นและต่อเนื่อง โดยความตึงเครียดที่สร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติเป็นเรื่องที่มีอยู่ ต่างฝ่ายต่างมีหมวกคนละใบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ทุกคนต้องเข้าใจว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีบทบาทที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าผลกระทบของอัตราดอกเบี้ย มีผลกับลูกหนี้หรือผู้กู้เงิน แต่การลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเร็วเกินไป อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินของไทย เนื่องจากภาวะหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูงถึง 90% ของจีดีพีประเทศ ซึ่งเป็นเพราะประเทศไทยอยู่ในจุดที่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาอย่างยาวนาน
ที่รัฐสภา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศยืนยัน จะไม่มีการเรียกระดมคณะกรรมการนโยบายการเงินเพื่อปรับอัตราดอกเบี้ยว่าได้ยินมาเหมือนกันก็เป็นสิทธิ์ของท่าน แต่หน้าที่ของตนคือการอธิบายให้ฟังถึงความเดือดร้อนของประชาชน ความเป็นอิสระและความที่เราไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ตนเชื่อว่าตนและผู้ว่าธปท. มีความสัมพันธ์ที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
“ซึ่งผมก็มีการเรียกร้องไป ผมคิดว่าผมมีเหตุมีผล ส่วน 3 ข้อที่บอกว่าเศรษฐกิจไทยไปไม่ได้ เรื่องของปิโตรเลียม เรื่องนักท่องเที่ยวจีน และเรื่องการจับจ่ายใช้สอยที่งบประมาณยังไม่ลงมารวดเร็ว ผมเชื่อว่ามีการพูดคุยกันอยู่แล้ว ให้จีนนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น ให้นักท่องเที่ยวจีนมาจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากยิ่งขึ้น แต่เหตุผลหลักๆ คือค่าเดินทางแพง ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจรมว.คมนาคม ก็กำลังทำให้ค่าเดินทางถูกลง ทำให้มีเงินในกระเป๋าเยอะขึ้น สามารถจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องงบประมาณทุกคนทราบกันดีอยู่ว่า เราใช้นโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งที่คาดว่าจะใช้ได้เดือนพ.ค. แต่ตอนนี้มีความคืบหน้าไปได้เยอะก็น่าจะเริ่มใช้เดือน เม.ย. ก็พยามทำกันอยู่แล้ว”
นายกฯ กล่าวต่อว่า ในเรื่องของประชาชนความเดือดร้อนเป็นเรื่องสำคัญ และที่ผู้ว่า ธปท. ระบุมา 3 ข้อนั้น ไม่มีเรื่องประชาชนเลย ตนอยากให้ผู้ว่า ธปท. กลับไปคิดว่า วันนี้ที่ประชาชนเดือดร้อน เราช่วยกันได้ ซึ่งก็คงต้องพูดคุยกันต่อไป เมื่อถามว่า รัฐบาลได้ส่งสัญญาณวิงวอนไป 3 ครั้งแล้ว แต่ยังไม่มีการตอบรับ นายกฯ กล่าวว่า ตนก็จะทำครั้งที่ 4 ครั้งที่ 5 ต่อไป แล้วดูซิว่าคนอื่นจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย วันนี้เราอยู่ในสังคมที่เจริญและพัฒนาแล้ว มีความเห็นต่างมีอะไรก็ต้องอยู่ด้วยกันได้ ไม่ได้มีการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ได้มีบรรยากาศที่ไม่น่าทำงานร่วมกัน ก็ต้องมาพูดคุยกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ายังไม่ได้รับการขานรับ จะพูดคุยหรือทำอย่างไรให้ได้ผล นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ต้องคุยต่อไป ก็ต้องพยายามต่อไปต้องใช้เหตุและผล ตัวเลขการชี้นำของเศรษฐกิจต่างๆ ก็บ่งบอกอะไรหลายๆอย่าง “ตัวเลข 2.5 ยังมีรูมเหลืออีกตั้งเยอะแยะ ถ้าเกิดมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้น 2.5 ไม่ได้เป็นอะไรที่ จะทำให้ไม่สามารถเคลื่อนนโยบายต่างๆได้ รองผู้ว่า ธปท. ก็เคยมาคุยและอธิบายให้ผมฟัง ว่าถ้าเราอัตราลดดอกเบี้ยไป คนที่ฝากเงินธนาคารอยู่ ก็จะไปดูในเรื่องของสินทรัพย์เสี่ยง ที่มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เพื่อหาอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น คนที่เงินอยู่ คือคนที่อยู่ด้านบน แต่วันนี้เราพูดถึงคนที่อยู่ฐานรากมากกว่า ก็อยากให้ท่านคำนึงถึงประชาชนในมิติอื่นๆ ด้วย”นายกฯ กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า ผู้ว่าฯธปท. เคยพูดตรงๆ ถึงเหตุผลหรือไม่ถึงความเห็นต่าง นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็อธิบายและพูดคุยกันไป เป็นเรื่องที่ตนคุยกับท่าน ซึ่งต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน เมื่อถามว่า การที่ผู้ว่าฯ ธปท. บอกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนด จะส่งผลต่อภาวะหนี้ครัวเรือน นายกฯ กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนปัจจุบันก็สูงอยู่แล้ว และคนที่ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แล้วดอกเบี้ยค้างจ่ายไปอยู่ที่ไหน ก็ไปอยู่ที่หนี้ครัวเรือนก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก เมื่อถามย้ำว่า จำเป็นต้องจับเขาคุยแบบจริงจังกับผู้ว่าฯธปท.หรือไม่ เพราะนโยบายการเงินและการคลังไม่สอดคล้องกัน นายกฯ กล่าวว่า ก็คงเป็นในลักษณะนั้น ส่วนจะนัดเมื่อไหร่ขอให้ถึงเวลาอันสมควร