“เครือข่าย JASAD” ยื่นข้อเสนอ“จาตุรนต์-ชัยธวัช-ประชาชาติ” นิรโทษกรรมผู้กระทำผิดจากความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ หวังลดความขัดแย้ง-ความรุนแรงในพื้นที่-เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการสันติภาพ

วันที่ 21 ก.พ. 2567 ที่รัฐสภา เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD ยื่นข้อเสนอแนะนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดจากความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ ต่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดย เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD กล่าวถึงการพิจารณาความขัดแย้งที่รุนแรงในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ที่ได้ปะทุขึ้นเมื่อปี 2547 และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 ปีเต็ม ตั้งแต่ปี 2547-2564 มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมดประมาณ 21,328 เหตุการณ์ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตทั้งหมด 7,314 ราย บาดเจ็บ 13,584 ราย รวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 20,898 ราย ทั้งนี้ เพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการสันติภาพ ดังนี้ 1.การนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำผิดเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง จะต้องรวมถึงความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้นับตั้งแต่กรณีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส ในปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมมีผลบังคับ 2.คดีที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม 3.ในระหว่างที่การนิรโทษกรรมอยู่ระหว่างการพิจารณาและยังไม่มีผลบังคับ รัฐบาลควรกำหนดมาตรการเพื่อยุติหรือชลอการดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยในความผิดดังกล่าวข้างต้นไปก่อน  รัฐบาลควรยุติการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลตามกฎหมายพิเศษทุกกรณี จึงจำเป็นต้องหยิบยกกรณีความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ คดีการเมืองปาตานี/ชายแดนใต้ หรือที่ถูกเรียกว่าคดีความมั่นคง ให้ได้รับการพิจารณาวินิจฉัยการกระทำความผิดเพื่อรับการนิรโทษกรรม เพื่อผลักดันให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้า และเกิดสันติภาพที่ยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ทางเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD ได้ยื่นข้อเสนอแนะต่อนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลและผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยนายชัยธวัช กล่าวว่า ยินดีรับข้อเสนอนี้ไปหารือกันใน กมธ. ส่วนตัวที่เคยได้แลกเปลี่ยนกับฝ่ายความมั่นคงบางคน ถึงเรื่องการนิรโทษกรรม ก็มีคำถามว่า จะรวมถึงคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ ซึ่งตนได้แสดงความคิดเห็นไปว่า จริงๆ แล้ว มีคดีบางส่วนที่น่าจะมีประโยชน์ต่อการคลี่คลายสถานการณ์ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่น่าจะนำมารวมพิจารณาได้ แต่ใน กมธ. ยังไม่มีการคุยกันเรื่องนี้ เนื่องจากเพิ่งประชุมไปได้แค่ 2 ครั้ง โดบในวันที่ 22 ก.พ.ที่จะถึงนี้ จะมีการพูดคุยเรื่องหลักการและแนวคิดพื้นฐานในการนิรโทษกรรม เพื่อออกแบบรายละเอียด และตนจะนำข้อเสนอนี้เข้าไปพิจารณาด้วย โดยคาดว่า น่าจะมีหลายคดีที่จะนำมาพิจารณาได้ ทั้งคดีที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 2 ครั้ง ที่มีการขึ้นศาลทหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง คดีที่ถูกดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ หรือแม้แต่กฎอัยการศึก รวมถึงใช้กลไกลของกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ พิจารณาควบคู่กันไป

นอกจากนี้ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD ยังได้ยื่นข้อเสนอแนะต่อพรรคประชาชาติด้วย