เมื่อเอ่ยถึง เพลงลูกทุ่งอีสาน เชื่อว่าหลายคนคงจำ เนื้อร้อง และทำนองได้ ติดหู วันนี้ สยามรัฐออนไลน์ พาไปรู้จัก เพลงลูกทุ่งอีสาน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดย เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต ได้เผยแพร่  กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งอีสาน ตอนที่ 9 ต่อจากตอนที่แล้ว ไว้ดังนี้

กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งอีสาน (9)

 เพลงลูกทุ่งอีสาน นอกจากขุนพลนักเพลงที่เป็นชาวอีสานที่ราบสูงโดยกำเนิดแล้ว กลิ่นอายบทเพลงและภาษาอีสานที่ปรากฏอยู่ในบทเพลงของครูสุรพล สมบัติเจริญ ก็เป็นอิทธิพลหนึ่งของบทเพลงลูกทุ่งในยุคแรก มาจนถึง สมัย อ่อนวงศ์ ขุนพลแคนแดนอีสานที่โดดเด่นแจ่มชัดที่ผลงานแต่งเพลงส่วนใหญ่มาจาก กานท์ การุณวงศ์ คีตกวีบ้านนานครนายกที่บรรจงแต่งให้นักร้องในวงดนตรี เช่น ดำ แดนสุพรรณ ,พรชัย สร้อยเพชร ที่เป็นชาวขอนแก่นโดยกำเนิด และ สุดท้ายคือ หัวหน้าวงดนตรีสมัยศิลปินที่เจตนาแรกเริ่มต้องการเพียงเล่นดนตรีอย่างเดียว จนวงเกิดปัญหานักร้องหลักย้ายวงดนตรีจำต้องออกหน้ามาเป็นนักร้องนำเสียเอง

 สมัย อ่อนวงศ์ จึงฉายแววเพลงท้องถิ่นยังเต็มเปี่ยมทั้งลีลาแคนที่ดังระดับโลก เป็นลูกทุ่งชาติพันธุ์วรรณาผ่านบทเพลงที่บรรดาเพื่อนมิตรครูเพลงส่งมอบให้ที่มีกลิ่นอายลูกทุ่งอีสานอย่างชัดเจนจนคนหลงลืมนึกว่า สมัย อ่อนวงศ์เป็นชาวอีสานสองฝั่งโขง แท้จริงเป็น ไททรงดำเพชรบุรีที่ถูกเทครัวมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

การเคลื่อนย้ายเทครัวนำมาซึ่งภาษาพูดที่ชาวสุพรรณบุรีและกลุ่มสำเนียงนี้พูดเป็นภาษาไทย(ที่ว่าภาษาไทยหมายความว่าเป็นภาษาที่ใช้ถ้อยคำและสำนวนอย่างไทยภาคกลาง ไม่ใช่ถอยคำและสำนวนอย่างลาวในประเทศลาว.)แต่สำเนียงเป็นสำเนียงลาวเหนือเจือปนจนสังเกตได้ชัด


จริงอยู่ในสมัยกรุงเทพฯนี้ได้เคยมีการกวาดต้อนพวกผู้ไทดำ (โซ่ง) ทางแขวงซำเหนือ และลาวเวียงทางเขตเวียงจันทน์ ตลอดจนชาวเมืองพวน (แขวงเชียงขวาง) มาไว้ที่จังหวัดสุพรรณบุรี – ราชบุรี –เพชรบุรีเดิม และยังคงใช้ภาษาเดิมของตนจนกระทั่งทุกวันนี้,หาได้เคล้าคละปะปนทั้งชีวิตประจำวันและภาษาเข้ากับชาวเจ้าของถิ่นเดิมไม่ ทั้งสำเนียงของชาวสุพรรณบุรีก็เป็นแบบลาวเหนือมิใช่แบบผู้ไท”

การเคลื่อนย้ายถ่ายเทผู้คนนำมาซึ่งสำเนียง เสียงภาษา แต่สำเนียง “เหน่อ” เป็นสำเนียงหลวงที่ใช้ในการเจรจาพากษ์โขนหลวง ซึ่งจะผิดจาก “ขนบ”เดิมมิได้ ซึ่งเป็นพระราชประเพณี

การเจรจาพากษ์โขนจึงไม่ใช่สำเนียงแบบคนบางกอกที่พูดออกสำเนียง “แปร่ง - เยื่อง” ไม่ตรง “เหน่อ” ส่งสำเนียงแปร่งหรือเยื้องจากสำเนียง มาตรฐานของเมืองหลวงในสมัยนั้น

แม้ว่าในปัจจุบัน เราใช้สำเนียงของคนบางกอก – กรุงเทพมหานคร เป็น มาตรฐานเพราะเป็นเมืองหลวงปัจจุบัน แต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนหน้านั้นสำเนียงและภาษาอย่างนี้เป็นท้องถิ่นเล็กๆ ท้องถิ่นหนึ่ง


สำเนียง เสียง เพลงลูกทุ่ง ในยุคแรกนั้นอาจกระจัดกระจายตามโทนเสียงของนักร้องท่านั้นๆ เช่น สำเนียงเสียงของ คำรณ บุญณานนท์,ชัยชนะ บุณนะโชติ,เมืองมนต์ สมบัติเจริญ,ดำ แดนสุพรรณ ออกเหน่อสุพรรณบุรี ชาย เมืองสิงห์,หนุ่ม เมืองไพร สำเนียงเหน่อสิงห์บุรี และ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ คนเพชรบุรีที่ออกสำเนียงเสียง สุโขทัยหรือสำเนียงบางกอก อย่าง ทูล ทองใจ,สมยศ ทัศนพันธุ์,ผ่องศรี วรนุช,ไพรวัลย์ ลูกเพชร  เป็นอาทิ   สำเนียงเสียงเหน่อแบบสุพรรณบุรี หรือ เหน่อ ทั่วไปจึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของ เพลงลูกทุ่งของ ลูกทุ่งขนานแท้


เสียงเหน่อนี้แหละ จึงเป็นเสียงที่ควบคุมท่วงทำนองเสียงเอก – โท ในเพลงต่างๆในลูกอ้อนและลูกเอื้อนของเพลงลูกทุ่งละปี่พาทย์ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติ ได้ชื่อว่าเป็นพ่อเพลงแห่งเมืองสุพรรณ และมีเชื้อสายลาวเวียง เป็นชาวอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี โดดเด่นชำนิชำนาญด้วยตับเพลงต่าง ๆ ทั้งเพลงแหล่ด้นสด อีแซว เพลงฉ่อย รวมทั้งเพลงจังหวะ ด้วยโทนเสียงไม่สูงและไม่ต่ำจึงเป็นสำเนียงเสียงร้องแบบมาตรฐาน
 
ในแง่บทเพลงลูกทุ่งอีสานนั้น ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ก็โดดเด่นยิ่งนักเมื่อได้เพลง "สาวคนโก้" จากอินทรีย์อีสาน พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา  ถึงขั้นตัดสินใจตั้งวงดนตรีของตัวเองเดินสายอีสานเป็นสายหลัก และยังได้ผลงานจากปลายปากกาของ สัญญา จุฬาพร ในเพลง ลาแล้วบางกอก และเข้มขลังด้วยสายสัมพันธ์สองฝั่งโขงเพลง สาลวันรำวง ของ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งเพลงได้นำเอาลำสาละวัน มรดกดนตรีสองฝั่งโขงมาดัดแปลงให้ผิดเพี้ยนจากต้นตำรับเป็นเพลง 4 สเต็ป โดยผสมผสานออกลายลำเลาะตูบของชาวภูไท ทำให้"สาละวันรำวง"กลายเป็นเพลงแนวสนุกที่เป็นอมตะของเพลงลูกทุ่งไทยไปอีกเพลงหนึ่ง 

มิติหนึ่งความเป็นลูกทุ่งอีสานของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ถูกสำทับความเป็นสายสัมพันธ์สองฝั่งโขงด้วยเพลงลำเลาะทุ่ง แต่งโดย สุรินทร์ ภาคศิริ ที่นำทำนองขับทุ่มหลวงพระบางมาใส่เนื้อร้องแก้เกี้ยวกับ ไพรินทร์ พรพิบูลย์

 ความโด่งดังโดดเด่นลูกทุ่งอีสาน ของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ นั้นสามารถจัดมหกรรมดนตรีเป็นเฉพาะได้ทีเดียว

 นักร้องระดับแม่เหล็กของวงการอีกคนคือ พนม นพพร ที่มีเพลงลุ่มน้ำวัฒนธรรมสองฝั่งโขงที่มาจากปลายปากกของ ครูเกษม สุวรรณเมนะ ,ณรงค์ โกษาผล และ ช.คำชะอี  เช่น เพลง ฮักสาวขอนแก่น ,หนุ่มลาวพวน ,เซิ้งสวิ้ง,หนุ่มพเนจร 


รวมทั้งลูกทุ่งเลือดน้ำเค็มบ้านเดียวกันคือ บรรจบ เจริญพร มีเชื้อสายจีนปนลาว และได้เพลงของ สุรินทร์ ภาคศิริ และ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ก็ยิ่งทำให้เพลงของ บรรจบ เจริญพร มีสีสันมากยิ่งขึ้น

อีกรายหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ ราชาเพลงพูด เพลิน พรหมแดน ศิลปินแห่งชาติ ชาวสระแก้ว ที่มีผลงานบทเพลงสำเนียงลูกทุ่งอีสานที่มาจาก สงเคราะห์ สมัตตภาพงศ์ ซึ่งเป็นชาวชัยภูมิ ที่ถือว่าเป็นนักแต่งคู่บุญตั้งยุคที่เพลิน พรมแดน ยังยืนหยัดแนวเพลงรำวงโรแมนติกชาวนาชาวไร่ จนเปลี่ยนแนวมาเป็นเพลงพูด ผลงานส่วนใหญ่มาจาก สงเคราะห์ สมัตตถาพงศ์ แทบทั้งสิ้น และมีนักแต่งเพลงท่านอื่น แต่งให้อยู่บ้าง 
 
เพลงพูดเพลงแรกที่บันทึกแผ่นเสียงคือเพลง สมัครด่วน เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องฝนใต้ ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร แล้วนำมาสู่เพลง ข่าวสดๆ ซึ่งแต่งโดย สงเคราะห์ สมัตถภาพงศ์ ชาวชัยภูมิ ซึ่งเป็นคนแต่งคนเดียวกัน

เพลงพูดในยุคนั้นมีหลายเพลงมาก คึกลิดคิดลึก,ผู้แทนมาแล้ว,กำนันเงินผัน พรรคกระสอบหาเสียง,เผลอสะบัดซ่อ, ข้อยยังบ่พอ, ขอจนได้, คนไม่กลัวเมีย, จอมเจ้าชู้, คนเก่งภาษา, คนโคราช, บุญน้อยบุญมาก, กีฬามหาสนุก, อาตี๋สักมังกร, โกนจุกสิงโต เป็นอาทิ จะเห็นได้ว่าเพลงพูดนั้นจะฉากล้อเลียนการเมืองในยุค พลตรี ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่มาก ในยุคนั้นเรียก “ยุคผันเงิน”
      
แต่เพลงแนวล้อการเมืองของเพลิน พรหมแดน ก็หยุดไว้ยุครัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เท่านั้น แล้วกลับมาอีกครั้งในยุครัฐบาลชวน หลีภัย 1 แต่เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่บรรยายการการเมืองหากแต่เป็นการล้อเลียนบรรยากาศการเลือกตั้งหรือสถานการณ์สังคมทั่วไป เช่น การเลือกตั้งผู้ว่ากทม. 2537 ,เรื่องข้อยุติรถไฟฟ้าใต้ดิน – บนดิน

เพลงลูกทุ่งอีสาน จึงอาจแบ่งได้ 4 กลุ่ม 1.นักร้องนอกพื้นที่อีสาน 2.นักร้องลูกทุ่งอีสานที่บทเพลงเป็นลูกทุ่งภาคกลาง 3.นักร้องลูกทุ่งอีสาน และ 4.ลูกทุ่งอีสาน - หมอลำ มาจนถึงยุคปัจจุบันที่ปัญหาเพลงเก่าติดขัดลิขสิทธิ์ เด็กรุ่นใหม่จึงหาทางออกด้วยเพลงลูกทุ่งอินดี้


ที่มา:เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต