"นายกฯ" ลุยงานสกลนคร สักการะพระธาตุเชิงชุม เพื่อความเป็นสิริมงคล ด้านผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อวยพรให้อยู่ครบ 4 ปี ทำบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นไป ขณะที่ "นิด้าโพล" ชี้ ปชช.เชื่อความขัดแย้งการเมืองมีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง หวั่นทำเศรษฐกิจแย่

 ที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม และคณะ เดินทาง กราบนมัสการองค์พระธาตุเชิงชุม ก่อนรับชมการแสดงต้อนรับชุด ชนเผ่าสกลนคร จากชนเผ่าคนรักพระธาตุ 6 ชนเผ่า จำนวน 371 คน ได้แก่ ไทญ้อ ภูไท ไทโย้ย ไทกะโส้ ไทกะเลิง ไทลาว
 
จากนั้นนายกฯกราบนมัสการ พระประธานในพระอุโบสถ ก่อนกราบนมัสการและถวายเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระครูกิตติธรรมนิวิฐ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร
 
ต่อจากนั้นพระครูกิตติธรรมนิวิฐ ได้มอบองค์หลวงพ่อจำลอง หลวงพ่อพระองค์แสนให้กับนายกฯเป็นที่ระลึก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน องค์พระประธานประดิษฐานภายในพระวิหารวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร
 
ทั้งนี้ นายกฯได้ใช้เวลาสนทนาธรรมกับพระครูกิตติธรรมนิวิฐ โดยพระครูได้ฝากให้นายกฯดูแลเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ เวลาถึงฤดูน้ำ น้ำจะท่วมสูง ส่วนเวลาหน้าแล้งน้ำจะแล้งมาก จึงอยากให้หน่วยงานราชการดูแลเพื่อให้ชาวบ้านอยู่ได้อย่างเป็นสุข
 
นายกฯ กล่าวว่า เรื่องของน้ำท่วมน้ำแล้ง หน่วยงานราชการกำลังเร่งพยายาม เพราะหากทำได้ก็จะทำให้พืชผลเกษตรกรมีผลผลิตดี มีรายได้สูง ประชาชนอยู่ดีมีสุข ปัญหายาเสพติดก็จะน้อยลง รวมทั้งปัญหาต่างๆด้วย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
 นอกจากนี้พระครูฯ ยังชื่นชมการทำหน้าที่ของนายกฯ เวลาที่พูดรู้สึกประทับใจเห็นถึงข้อเท็จจริงเพราะติดตามอยู่ตลอด โดยในช่วงท้ายพระครูฯอวยพรให้นายกฯอยู่ครบ4 ปี เพื่อทำให้ประเทศไทยดีขึ้นเจริญยิ่งขึ้นไป และขอให้สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

 ด้านนายกฯ กล่าวว่า ตนไม่ได้เก่งคนเดียว ไม่ได้มีพรรคเพื่อไทยเพียงอย่างเดียว พรรคร่วมรัฐบาลก็ช่วยๆกัน วันนี้ นายอนุทิน ที่มาด้วยก็ช่วยกัน ช่วยกันทั้งหมดเป็นอย่างดี ตนไม่ได้เก่งเพียงคนเดียว ทุกคนร่วมมือช่วยเหลือกัน
 วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ความขัดแย้งทางการเมือง ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ นิด้าโพล สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

 จากการสำรวจเมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.93 ระบุว่า เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง รองลงมา ร้อยละ 20.08 ระบุว่า ความแตกแยกในสังคม ร้อยละ 19.39 ระบุว่า ไม่กังวลใด ๆ เลย ร้อยละ 11.75 ระบุว่า การใช้ความรุนแรงในสังคม ร้อยละ 9.54 ระบุว่า ความไม่มีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย และร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 
ด้านความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองส่วนใหญ่มีนักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.73 ระบุว่า เชื่อมาก รองลงมา ร้อยละ 27.18 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 12.06 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 10.84 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 5.19 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ  
 
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง รอบใหม่ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 29.85 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล รองลงมา ร้อยละ 27.02 ระบุว่า ไม่กังวลเลย ร้อยละ 22.75 ระบุว่า กังวลมาก ร้อยละ 19.62 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ    
 
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.01 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.74 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง
 
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.79 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.93 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.74 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 95.19 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.98 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 1.83 นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น ๆ
 
ตัวอย่าง ร้อยละ 34.81 สถานภาพโสด ร้อยละ 62.06 สมรส และร้อยละ 3.13 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 25.04 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 39.08 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.01 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 23.21 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.66 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

 ตัวอย่าง ร้อยละ 7.25 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.11 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.60 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.21 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.49 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 20.38 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 5.96 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

 ตัวอย่าง ร้อยละ 24.05 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 19.08 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 27.18 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.85 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.96 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 2.21 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 12.67 ไม่ระบุรายได้