สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…  

เมื่อไม่กี่วันก่อน มี 2 ผลสำรวจความเห็นประชาชน ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ และเป็นประเด็นนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง …*…

โพลแรกเป็นการสำรวจความเห็นผ่านแอปพลิเคชันไลน์ทูเดย์ เกี่ยวกับคะแนนความนิยมของนักการเมืองในปัจจุบันประจำเดือนกรกฎาคม 2567 โดยเปิดให้โหวตตั้งแต่วันที่ 1-20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในหัวข้อ “คุณคิดว่าใครมีบทบาท ผลงานโดดเด่น หรือถูกใจคุณที่สุด” ปรากฏว่า อันดับ 1 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ 8,742 คะแนน คิดเป็น 40.13% แซงนายนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เข้ามาเป็นอันดับสองได้ 7,425 คะแนน คิดเป็น 34.09% ...*...

ทันทีที่ผลโพลปรากฏ คนในฟากพรรคเพื่อไทยออกมาขานรับกันอย่างคึกคัก เพราะดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่นายเศรษฐามีคะแนนนิยมเหนือนายพิธา ...*... 

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งมีข้อสังเกตน่าสนใจจากนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับผลการสำรวจความเห็นผ่านแอปฯไลน์ ทูเดย์ดังกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ ที่คะแนนอันดับ 1 เป็นของนายเศรษฐา เพราะคำถามของการสำรวจ ถามถึงผลงานที่โดดเด่น ซึ่งนายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี สามารถสร้างผลงานให้เป็นที่ปรากฏต่อประชาชนได้ ในห้วงเวลา 1 ปี ที่นายเศรษฐาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินในการทำงานเต็มที่ ถ้าหากผลงานไม่ปรากฏ หรือไม่เป็นที่ยอมรับว่ามีผลงานโดดเด่นในสายตาประชาชน ก็เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก ...*...

“กรณีของนายเศรษฐา ก็ไม่สามารถเปรียบเทียบกับนายพิธา ซึ่งเป็นฝ่ายค้านได้ เพราะไม่สามารถสร้างผลงานในเชิงบริหารราชการแผ่นดินให้มีผลงานเป็นรูปธรรมจับต้องได้ เพราะมีบทบาทที่แตกต่างกันกับฝ่ายบริหาร ถ้าจะเปรียบเทียบผลงานของนายเศรษฐา ก็น่าจะเปรียบเทียบกับผลงานของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล หรือรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ในรัฐบาลชุดนี้ ว่าใครมีผลงานโดดเด่นเข้าตาประชาชนบ้างหรือไม่ แต่ถ้าหากต้องการวัดกระแสความนิยมจากประชาชนจริงๆ ต้องตั้งคำถามว่า ถ้ามีการเลือกตั้งวันนี้ ประชาชนจะเลือกใครเป็น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ขอแสดงความยินดีกับนายเศรษฐาและกองเชียร์จากพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาประโคมข่าว แสดงความยินดีกับผลสำรวจของ LINE TODAY อย่างออกหน้าออกตา เพราะเป็นครั้งแรกที่นายเศรษฐาได้รับคะแนนนิยมเป็นอันดับ1 จากผลโพลนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลออกมาจะตรงประเด็นคำถาม และวัดความนิยมของประชาชนในตัวนักการเมืองได้มากที่สุด”นายเทพไทระบุ ...*...

มาที่อีกโพล เป็นการดำเนินการโดยสวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง คนไทยกับความยากจน หนี้สิน และการเลิกจ้างงาน ระหว่างวันที่ 15-19 ก.ค.67 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,146 คน สำรวจผ่านทางออนไลน์และภาคสนาม พบว่า กลุ่มตัวอย่างคิดว่าปัจจุบัน ปัญหาความยากจน หนี้สิน และการเลิกจ้างงาน เป็นปัญหารุนแรง ร้อยละ 78.80 โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.07 มีหนี้สินส่วนตัวและคิดเป็นประมาณ 20 -50% ของรายได้ต่อเดือน ทั้งนี้ร้อยละ 47.99 เคยถูกเลิกจ้าง/เห็นคนใกล้ตัวถูกเลิกจ้าง ...*...  

ด้านความคิดเห็นต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาความยากจนด้วยการเพิ่มโอกาสในการทำงาน/จ้างงาน ร้อยละ 79.02 ส่วนปัญหาหนี้สินอยากให้รัฐบาลสนับสนุนการสร้างรายได้ให้กับประชาชน ร้อยละ 79.16 และปัญหาเลิกจ้างงาน อยากให้ช่วยส่งเสริมการสร้างงานใหม่/ช่วยหางานใหม่ ร้อยละ 77.34 โดยกลุ่มตัวอย่างมองว่าแนวทางที่จะทำให้คนไทย กินดีอยู่ดีไม่มีหนี้สิน คือต้องมีงานทำ มีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดี ร้อยละ 34.06 ...*...

 โดย น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ชี้ว่า จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาความยากจน หนี้สิน และการเลิกจ้างงาน เป็นปัญหาที่รุนแรงและต้องแก้ไขเร่งด่วน ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่องและผลกระทบจากโควิด-19 การมีหนี้สินส่วนตัวที่สูงและการเลิกจ้างงานทำให้ประชาชนรู้สึกถึงภาระทางการเงินที่หนักหน่วง รัฐบาลจึงควรเน้นการสร้างงาน เพิ่มรายได้ เพิ่มโอกาสในการทำงานและจ้างงาน ผลักดันนโยบายเรือธงที่หาเสียงไว้โดยเน้นผลลัพธ์ของโครงการ ที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ช่วยให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคงและสามารถจัดการกับหนี้สินได้ดีขึ้น ...*...

สาระสำคัญของ 2 โพลนี้ มีความเกี่ยวเนื่องกัน เพราะความนิยมชมชอบในตัวนายกฯและรัฐบาลนั้น มีความสัมพันธ์กับผลงานโดยตรง หากความเดือดร้อนของประชาชนที่สะท้อนผ่านสวนดุสิตโพลได้รับการแก้ไขให้บรรเทาเบาลง เรตติ้งนายกฯและรัฐบาลย่อมเป็นบวก ...*...

ทว่า หากเป็นไปในทางตรงกันข้าม นโยบายแจกเงินหมื่นผ่านดิจิตอล วอลเล็ต ไม่เปรี้ยง ปลุกเศรษฐกิจไม่ขึ้นตามที่รัฐบาลที่วาดหวังไว้ ไม่สามารถเพิ่มรายได้ ขยายการจ้างงานตามความมุ่งหวังของประชาชน ต่อให้ไม่ต้องทำโพลสำรวจความเห็นใครที่ไหน ก็รู้คำตอบได้ไม่ยากว่าสถานะของรัฐบาล และนายกฯจะเป็นอย่างไร ยิ่งอยู่ลำบากขึ้นเพียงไหน

อ่านต่อ:เจ้าพระยา (25/7/67)