ซูเปอร์โพล เผยปชช.พอใจตำรวจลงพื้นที่แก้ปัญหา-ปราบปรามยาเสพติด ภายใต้การนำของ บิ๊กต่อ-บิ๊กต่าย ตามนโยบาย เศรษฐา ขณะที่ฝ่ายปกครอง-สาธารณสุขรองลงมา แนะเร่งขยายการมีส่วนร่วมภาคประชาชนแก้ได้ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่องเสียงประชาชน ต่องานป้องกันปราบปรามยาเสพติด กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวน 2,060 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 13-17 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.5 ระบุสถานการณ์ปัญหายาเสพติดอยู่ในระดับรุนแรง โดยร้อยละ 12.1 ระบุรุนแรงมากถึงมากที่สุด แต่ร้อยละ 18.4 ระบุไม่มีปัญหา
ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามประสบการณ์พบเห็นหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ลงพื้นที่ชุมชนแก้ปัญหายาเสพติด พบว่า ในส่วนของการพบเห็นหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่ลงพื้นที่ชุมชนเพิ่มขึ้นในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้แก่ ตำรวจร้อยละ 81.0 ฝ่ายปกครองร้อยละ 68.6 และสาธารณสุขพื้นที่ เช่น รพ.สต. อสม. เป็นต้น ร้อยละ 65.7 ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามความพึงพอใจของประชาชนต่องานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ พบว่า ในส่วนของความพึงพอใจมากถึงมากที่สุดเรียงลำดับคือ ตำรวจ ร้อยละ 71.1 ฝ่ายปกครอง ร้อยละ 52.7 และสาธารณสุขพื้นที่ เช่น รพ.สต. อสม. เป็นต้น ร้อยละ 51.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.1 ไม่เคย ในขณะที่ ร้อยละ 28.9 เคยมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ รายงานของ ซูเปอร์โพล ระบุด้วยว่า การศึกษาครั้งนี้ได้ดำเนินการในห้วงเวลาต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้านงานป้องกันและปราบปราม แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในเสียงของประชาชนยังคงมีความรุนแรงแต่ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดของตำรวจมากที่สุดและมีประสบการณ์พบเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครองและสาธารณสุขพื้นที่ เช่น รพ.สต. อสม. เป็นต้น ลงพื้นที่ชุมชนร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในชุมชนที่พักอาศัย อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ยั่งยืนคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ยังน้อยโดยภาพรวม
รายงานของซูเปอร์โพล ระบุด้วยว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนของคณะทำงานซูเปอร์โพล พบว่า กองบัญชาการตำรวจภูธรภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะอีสานตอนบนหรือกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 มีจุดแข็งด้านการมีส่วนรวมของภาคประชาชนที่เข้มแข็งอันเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยทำให้พลังต่อต้านการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่ทะลักเข้าประเทศถูกยับยั้งได้จากความร่วมมือของภาคประชาชนกับหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เช่น ตำรวจ ทหาร ป.ป.ส. ฝ่ายปกครอง และสาธารณสุข เป็นต้น ดังนั้นแนวทางการเสริมสร้างให้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพิ่มทวีคูณยิ่งจะกลายเป็นพลังแผ่นดินต่อต้านยาเสพติดได้สำเร็จอย่างยั่งยืนตามแนวนโยบายรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี