นายกฯ ห่วงปัญหาฝุ่นพิษ จี้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขด่วน ยก"เชียงใหม่โมเดล" ด้านอธิบดีกรมฝนหลวง รับสัปดาห์นี้แก้ปัญหายาก เหตุมีการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่ม 2-3 เท่า ขณะที่ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ กทม. เกินมาตรฐานกว่า 48 เขต
เมื่อวันที่ 15 ก.พ.67 เวลา 10.50 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เดินทางมายังศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามปัญหาฝุ่น PM 2.5 และรับฟังรายงานจากปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังวันนี้ค่า PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดโดยรอบเกินค่ามาตรฐานและอาจจะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เหล่านั้น
โดย นายกฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับฟังรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ หลังจากได้รับฟังรายงานก็เห็นแล้วว่า จุด Hotspot ของค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งได้พบว่าอยู่ที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งในวันนี้เวลา 13.30 น. จะนัดหารือกับรมว.มหาดไทย และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ รวมถึงผู้บัญชาการทหารบก และทีมงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่าปัญหาของเรื่องฝุ่นอยู่ตรงไหน และดูรายงานของวันนี้ก็พบว่า จุดสูงสุดของค่าฝุ่นพิษในแผนที่ จ.เชียงใหม่ ควรจะมีค่าฝุ่นที่สูงกว่านี้ แต่ในช่วงเวลานี้กลับเป็นสีเหลือง จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี หลังจากที่ตนเองได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ถึง 3 ครั้ง ติดตามและกำชับการบริหารจัดการ ทั้งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ผลที่ออกมานั้นดูดี จึงอยากจะทำเชียงใหม่ให้เป็นโมเดลนำร่องอีกหลายจังหวัด ส่วนในระยะสั้น กรุงเทพมหานคร ได้ประกาศให้มีการ work from home บางส่วนแล้ว ส่วนระยะสั้นให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดในแต่ละพื้นที่ ประสานกับฝ่ายความมั่นคง ติดตามเรื่องนี้ ซึ่งกระทรวงทรัพย์ฯ ก็มีข้อมูลที่ดี ตรงไหนที่เป็นปัญหาก็ต้องสั่งการที่ชัดเจน รวมถึงประสานกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเผา
"เราต้องทำวันนี้ให้คลี่คลาย ไม่ใช่จะบอกว่าอีก 3 วัน จะดีขึ้น เพราะเราต้องอยู่กับมันไป ยังไงก็ต้องแก้ไขกันไป จะรออีก 3-4 วัน และให้ทิศทางลมดีขึ้น จะหวังให้ลม ฟ้า อากาศ มาช่วยก็คงไม่ได้ และวันนี้มากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ครั้งแรก เพราะเห็นว่าเรื่อง PM 2.5 เป็นเรื่องใหญ่ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น ต้องดูกันไป ทั้งเรื่องควันพิษที่ออกมาจากรถยนต์ รวมถึงมาตรการที่จะเปลี่ยนให้ไปใช้รถ EV ซึ่งวันนี้กรุงเทพมหานครมีค่าความร้อนสูงหลายพื้นที่ และ 1 ใน 3 ออกมาจากรถยนต์ รวมถึงแนวความคิดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะมีการย้ายท่าเรือคลองเตยออกไป ก็เป็นเรื่องดี จะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว" นายเศรษฐา กล่าว
ด้าน นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า กรมฝนหลวงและการการบินเกษตร ได้ดำเนินการ ตั้งแต่ เดือน ธ.ค ปี 66 โดยมีการขึ้นบินทุกวัน ซึ่งช่วยให้ฝุ่นไม่รุนแรงมากนัก แต่ว่าในช่วงสัปดาห์นี้แก้ปัญหาได้ยาก เพราะ การเผาในพื้นที่นอกประเทศมีความรุนแรงมากขึ้น 2-3 เท่า จากปกติรวมถึงสภาพอากาศจากฝั่งทิศตะวันออก ก็พัดหมอกควันมาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าพื้นที่ กทม. โดยตรง ซึ่งในช่วงนี้กรมฝนหลวงจึงยังคงเร่งปฎิบัติการณ์เช่นเดิม เพื่อบรรเทาสถานการณ์และให้ฝุ่นลอยขึ้นอากาศให้เร็วที่สุด แต่เนื่องจากเครื่องมือและอุปกรณ์ของกรมฝนหลวงมีน้อย จึงทำได้เพียงระดับหนึ่ง ยืนยันว่ากรมฝนหลวงจะพยายามติดตามและบรรเทาสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ก็จะปฏิบัติการบินเพื่อทำฝนเทียม ซึ่งภายใน 1-2 วัน คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ด้าน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น "เช็คฝุ่น" เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 15 ก.พ.67 พบ 44 จังหวัด ในของประเทศไทยมีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ
โดย 5 อันดับแรก คือ อ่างทอง 188.1 ไมโครกรัม สมุทรสงคราม 148.7 ไมโครกรัม สระบุรี 128.4 ไมโครกรัม สิงห์บุรี 127.8 ไมโครกรัม สมุทรสาคร 126.1 ไมโครกรัม และยังคงพบค่าคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ในอีก 22 จังหวัดของประเทศ
สำหรับพื้นที่กทม.พบค่าฝุ่น PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานกว่า 48 เขต โดพื้นที่ที่พบมีคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ ราชเทวี ปทุมวัน ป้อมปราบศัตรูพ่าย ดุสิต ทวีวัฒนา หนองจอก บางขุนเทียน หนองแขม คลองสามวา บางบอน เป็นต้น ในส่วนของเขตพื้นที่อื่น ๆ ยังคงพบคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ