'นายกฯ' ตอกย้ำ พลังงานเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต ระบุจะทุบ'ค่าไฟฟ้า' โดยไม่คำนึงเรื่องการตลาดจะกลายเป็น'รัฐประหารทางเศรษฐกิจ' พร้อมผลักดันกลไกอุตสาหกรรมไปข้างหน้าควบคู่เรื่องของพลังงาน
ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ก.พ.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานเปิดงาน Thailand Energy Executive Forum และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน" โดย นายเศรษฐา กล่าวตอนหนึ่งว่า พลังงานถือเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีข้อสั่งการในการช่วยเหลือลดค่าไฟสำหรับเครื่องสูบน้ำการทำนา เนื่องจากการเกษตรถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่จำเป็นจะต้องทำเพื่อลดช่องว่างทางสังคม ทั้งนี้เกษตรกรต้องการความช่วยเหลือ และการช่วยเหลือเกษตรกรก็ต้องช่วยเหลือแบบอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่รอพึ่งการสนับสนุนจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียวในทุกเรื่อง ซึ่งต้องยอมรับว่าพลังงานเป็นต้นทุน และองค์ประกอบใหญ่อย่างหนึ่งของการทำเกษตร ยอมรับว่า พลังงานโซล่าเซลล์ถือว่าเป็นพลังงานที่ถูกที่สุด ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนการทำตามหมู่บ้านต่างๆ ทำให้ค่าไฟถูกลงและเกษตรกรใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกันพลังงานและอุตสาหกรรมก็มีความสำคัญ หลังจากตนได้รับตำแหน่ง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ได้เดินทางไปต่างประเทศ พบว่าสำนักงานส่งเสริมการลงทุนไทยหรือบีโอไอ มีคนรุ่นใหม่เข้าใจบริบท เข้าใจนักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในไทย เข้าใจสิทธิทางด้านภาษี และความเป็นอยู่ของคนไทยดีที่สุด ซึ่งไทยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบินที่กำลังจะเปิดใหม่อีกเฟส และท่าเรือน้ำลึก ซึ่งต่างชาติตระหนักและมองว่าเป็นจุดบวกของไทย พร้อมสนใจลงทุนด้านพลังงานสะอาด โดยเฉพาะรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (sdg index ) ของไทยอยู่อันดับที่ 30 กว่าของโลก อยู่สูงที่สุดของอาเซียน ดังนั้นไทยมีดีกว่าหลายประเทศ หลังจากนี้ตนเองจะเดินทางไปพูดคุยกับประเทศในแถบยุโรป
นายกฯ กล่าวว่า เดือนหน้าตนจะเดินทางไปเยอรมนีเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามา โดยเฉพาะนักลงทุนทั่วโลกถามถึงพลังงานสะอาด โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ดังนั้นเชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานจะให้ความสำคัญและตระหนักดีในเรื่องนี้ ที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาได้ ซึ่งประเทศไทยมีดีหลายอย่าง ยอมรับว่าประเทศไทยโชคดี เพราะในอดีตเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา มีเขื่อนเช่นเขื่อนภูมิพล มีส่วนสำคัญช่วยในเรื่องของไฟฟ้า ซึ่งในอนาคต สามารถพัฒนาทำเรื่องโซล่าเซลล์ได้ จึงต้องดูความเหมาะสมและเรื่องการลงทุนว่าจะสามารถดึงพลังงานมาใช้ได้เท่าใด หากทำได้ถือว่าเป็น soft of energy และเป็นจุดขายของประเทศไทยต่อไป
สำหรับเรื่องค่าพลังงาน มีการสอบถามกันมาว่ามีกลไกอะไรบ้าง สามารถทำอะไรได้บ้างทั้งค่า ppa การขอใช้กริดของโรงงานไฟฟ้าในปัจจุบัน (grid electrical) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันสำหรับการจ่าย ไฟฟ้าจากผู้ผลิตต่างๆไปยังผู้บริโภค กลไกตลาดจะไม่สามารถทำได้ พลังงานที่ผลิตขึ้นมาจะต้องมีผู้จ่ายอยู่ดี ซึ่งอาจจะเป็นเงินของพวกเราทุกคนที่โอนกลับไปจ่ายให้กับผู้ผลิต ทำให้ต้องเก็บเงินกลับคืนอยู่ดี แต่ความเชื่อมั่น และความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้
"การทุบโดยไม่ต้องสนใจกลไกการตลาด จะทำให้เกิดรัฐประหารทางเศรษฐกิจ เราอาจจะได้ค่าไฟถูกอยู่ไม่กี่วัน ก่อนที่จะควักเอาเงินของประชาชนมาจ่าย”
นายกฯ กล่าวอีกว่า มีการตั้งคำถามว่าเหตุใดรถไฟฟ้าความเร็วสูงจึงไม่สร้าง ซึ่งจะสามารถประหยัดเวลาได้หลายชั่วโมง แต่ขอให้จินตนาการดูว่าถ้าโครงการทำไปถึงหนองคาย นักธุรกิจที่นั่งอยู่คงทราบว่าต้องผ่านกี่โต๊ะในการส่งสินค้าออกไปได้ กรมศุลกากร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สาธารณสุข และแรงงาน ต้องผ่านกี่โต๊ะ กี่แสตมป์ ฉะนั้นจะสามารถทำเป็นซิงเกิ้ลวินโดซ์ ซิงเกิ้ลฟอร์มได้หรือไม่ เพราะหากลงทุนหลายแสนล้าน หรือล้านล้านก็ต้องมาเสียเวลาอยู่ดีในด่านต่าง 2-3 ชั่วโมง โดยรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ตนมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า ขณะเดียวกันต้องทำให้อำนวยความสะดวกทางธุรกิจได้ดีขึ้น หลายคนพูดถึงเรื่องกิโยตินกฎหมาย ที่พูดกันมานานเท่าไหร่แล้ว ฟังดูแล้วมันเท่ห์มันเก๋ แต่มันทำไม่ได้มันยังทำไม่สำเร็จ ฉะนั้นแล้วถึงเวลาหรือยังที่เราต้องพูดคุยอย่างจริงจัง ซึ่งอะไรทำได้ก็ต้องทำก่อน”
นายเศรษฐา กล่าวว่า มีผู้สื่อข่าวถามตนว่าสิ่งที่แปลกใจที่สุดการเป็นนายกฯคืออะไร ตนจึงตอบกลับไปว่า The amount of power I have, but most of the time the lack of it. มันมีกลไก การบริหารจัดการแผ่นดินเยอะ ซึ่งเป็นกลไกที่เราต้องการความสมัครสมานสามัคคีต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย และเป็นกลไกที่เราต้องสร้างบรรยากาศที่ดีในการสำหรับการพูดคุยกันเรื่องที่เห็นต่าง เชื่อว่านักธุรกิจที่มาร่วมงานในวันนี้จะทราบถึงความหวังดีของตนและของ รัฐบาลที่จะผลักดันกลไกอุตสาหกรรมไปข้างหน้าควบคู่เรื่องของพลังงาน