เมื่อวันที่ 14 ก.พ.67 เพจเฟซบุ๊ก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โพสต์ข้อความระบุว่า...
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, กรมควบคุมมลพิษ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 13.00 น.. ของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบค่าฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 42 เขต โดย 5 อันดับแรก คือ #ดุสิต 103.3 ไมโครกรัม #วัฒนา 103 ไมโครกรัม #บางกอกใหญ่ 102.9 ไมโครกรัม #บางกอกน้อย 102.8 ไมโครกรัม และ #พระนคร 102.7 ไมโครกรัม ในส่วนของ 8 เขตพื้นที่เหลือยังคงพบคุณภาพอากาศสีส้มในระดับที่เริ่มมีผลทบต่อสุขภาพ
ด้านภาพรวมประเทศไทยพบค่าคุณภาพอากาศในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเพียงจังหวัดเดียวเท่านั้นคือกรุงเทพมหานคร อยู่ที่ 77.7 ไมโครกรัม และในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพพบเกินครึ่งของประเทศ โดย 5 อันดับแรก คือ #นนทบุรี 67.9 ไมโครกรัม #สมุทรปราการ 67 ไมโครกรัม #ปทุมธานี 61.5 ไมโครกรัม #สมุทรสาคร 58.7 ไมโครกรัม และ #สิงห์บุรี 57.9 ไมโครกรัม
แอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” ยังคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า พบว่าหลายพื้นที่จะมีค่าคุณภาพอากาศที่ยังคงอยู่ในระดับส้มต่อเนื่องโดยเฉพาะโซนภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ทั้งนี้ ข้อมูลบนแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับ AI (Artificial intelligence) ในการวิเคราะห์ค่าฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัด PM 2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ, ข้อมูลสภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น จุดความร้อน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก มานำเสนอให้ในรูปแบบข้อมูลตัวเลขและค่าสีในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ประชาชนควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูล PM2.5 แบบรายชั่วโมงเพิ่มเติมผ่านแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น"