วันที่ 11 ก.พ. 2567  น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้รวบรวมจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ สิ้นปี 2566 พบว่ามีจำนวนราษฎรทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 66,052,615 คน ลดลงจากสิ้นปี 2565 จำนวน 37,860 คน หรือลดลงร้อยละ 0.06 เป็นผู้มีสัญชาติไทย 65,061,190 คน ไม่มีสัญชาติไทย 991,425 คน โดยจากจำนวนทั้งหมดนี้เป็นราษฎรเพศชาย 32,224,008 คน และ เพศหญิง 33,828,607 คน

ทั้งนี้ จังหวัด/ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร 5,471,588 คน และส่วนสมุทรสงคราม เป็นจังหวัดที่มีจำนวนราษฎรน้อยที่สุดคือที่ 187,993 คน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับจังหวัด ที่มีจำนวนราษฎรตั้งแต่ 1 ล้านคนขึ้นไปมีทั้งหมด 20 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร (รวม 21 จังหวัด/การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ) ตามลำดับ ดังนี้ 1)กรุงเทพฯ 5,471,588 คน 2)นครราชสีมา 2,625,794 คน 3)อุบลราชธานี 1,869,608 คน 4)เชียงใหม่ 1,797,074 คน 5)ขอนแก่น 1,779,373 คน 6)ชลบุรี 1,618,066 คน 7)บุรีรัมย์ 1,573,230 คน 8)อุดรธานี 1,558,528 คน 9)นครศรีธรรมราช 1,540,953 คน 10)ศรีสะเกษ 1,450,333 คน 11)สงขลา 1,431,959 คน 12)สมุทรปราการ 1,372,970 คน 13)สุรินทร์ 1,367,842 คน 14)นนทบุรี 1,308,092 คน 15)เชียงราย 1,298,977 คน 16)ร้อยเอ็ด 1,284,836 คน 17)ปทุมธานี 1,219,199 คน 18)สกลนคร 1,142,657 คน 19)ชัยภูมิ 1,113,378 คน 20)สุราษฎร์ธานี 1,075,788 คน และ 21)นครสวรรค์ 1,021,883 คน

โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทางด้านของข้อมูลทางปกครองทั่วประเทศ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 66 กรมการปกครองรายงานว่า การปกครองส่วนภูมิภาค ทั่วประเทศไทยมีจำนวนจังหวัดทั้งหมด 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล และ 75,142 หมู่บ้าน

สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีจำนวนองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง จำนวนเทศบาล 2,472 แห่ง (เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง และเทศบาลตำบล 2,247 แห่ง) องค์การบริหารส่วนตำบล 5,300 แห่ง และการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง (กรุงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา)