วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้องประชุมสุนทร สุนันท์ชัย  กรมส่งเสริมการเรียนรู้  นายธนากร  ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มอบหมายให้นางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำกรอบแนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง โดยมี ดร.กล้า  สมตระกูล ผู้ทรงคุณวุฒิและอดีตรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการบำนาญ หัวหน้ากลุ่มงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 
นางสาวเอื้อมพร กล่าวว่า “ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการส่งเสริม พัฒนาการจัดการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัยให้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง ได้รับการพัฒนาศักยภาพ หรือเพิ่มพูนทักษะ ความเชี่ยวชาญตามความถนัดและความสนใจที่สอดคล้อง เท่าทันพัฒนาการของโลก สำหรับการจัดทำกรอบแนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนงานการดำเนินงานตามภารกิจสำหรับในหน่วยงาน สถานศึกษา และกลุ่มเป้าหมาย สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ให้มีทิศทางในการนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566  และนโยบายหลักทางการศึกษา เพราะการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง ถือเป็นการเรียนรู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชน เนื่องจากการพัฒนาศักยภาพกำลังคนถือเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานภาครัฐด้านการศึกษาเพียงหน่วยงานเดียวที่มี ศกร.ตำบล/แขวง เป็นสถานที่จัดและให้บริการความรู้แก่คนในชุมชนทั่วประเทศ ได้รับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองและยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต โดยสนับสนุนให้คนทุกช่วงวัยมีโอกาสพัฒนาทักษะอย่างเต็มศักยภาพ และมีสมรรถนะที่สอดคล้องกับบริบทของโลกยุคใหม่  ตามสาระบัญญัติของพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566  ที่มุ่งไปสู่การพัฒนาตนเองของบุคคลเป็นสำคัญ โดยในมาตรา 6 (2) ที่ให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้มีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง  โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาศักยภาพ ทักษะ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามความถนัดของตน การประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การยกระดับคุณภาพชีวิตของตน ครอบครัว ชุมชน หรือสังคมหรือเพื่อประโยชน์แห่งความรอบรู้ของตน โดยอาจได้รับการรับรองคุณวุฒิตามความเหมาะสมในการจัดการเรียนรู้  ให้มีระบบแนะแนวการเรียนและการประกอบอาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ทราบล่วงหน้าหรือวางแผนให้สอดคล้องกับความถนัดของตนเอง  ​​​​​​​โดยจัดการเรียนรู้แบบเข้มข้น มีเป้าหมายเฉพาะและมีวิธีการจัดการเรียนรู้ตามความสนใจ และดำเนินการจัดการเรียนรู้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดให้มีระบบการสนับสนุนที่ชัดเจน ซึ่งต่างจากเดิมที่ต้องดำเนินการจัดการศึกษาเองเกือบทั้งหมด โดยมีจุดประสงค์ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการประกอบอาชีพและพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างการเรียนรู้ ให้บุคคลมีรายได้ มีต้นแบบความสำเร็จ แล้วขยายผลต่อยอดไปที่ทักษะชีวิต สังคม ชุมชนต่อไปอย่างยั่งยืน ”