วันที่ 8 ก.พ. 2567 ที่รัฐสภา รองศาสตราจารย์ ยุทธพร อิสรชัย อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะกรรมการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวภายหลังการประชุม กมธ.นิรโทษกรรมฯ นัดแรก มองจุดหมายปลายทางเรื่องนี้ไว้อย่างไร ว่า กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม อย่างไรก็ดีกฎหมายคือเรื่องปลายทาง แต่เรื่องที่สำคัญที่สุด คือกระบวนการที่ต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เราพูดถึงเรื่องการสร้างความปรองดอง และความสมานฉันท์มามากมาย แต่ปรากฏว่า ยังไม่เคยเห็นอะไรที่เป็นภาพเป็นผลชัดเจน
เพราะฉะนั้น จะต้องเริ่มต้นด้วยหลักอธิปไตยแบบปรึกษาหารือ เรามีคำตอบล่วงหน้าแล้ว จะแก้หรือไม่แก้เรื่องใด อยากให้มีหน้าตาของกฎหมายแบบไหน ตรงนี้ไม่ใช่ปัจจัยแห่งความสำเร็จแน่นอน
แต่ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น คือกระบวนการพูดคุยหารือร่วมกัน ด้วยหลักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง ช่วงความขัดแย้งร่วมสมัยในประเทศไทยที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เมื่อเราพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรม ในอดีตกลายเป็นเครื่องมือของคณะรัฐประหาร ทุกยุคทุกสมัย เพื่อใช้ในการนิรโทษกรรมตัวเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเราต้องมอง กฎหมายนิรโทษกรรมในลักษณะที่เป็นเครื่องมือร่วมกันของคนในสังคม เพื่อทางออกร่วมกัน ตนคิดว่านี่จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในครั้งนี้ได้
ส่วนจะรวมการนิรโทษกรรมคดีความผิดตามกฏหมายอาญามาตรา 112 ด้วยหรือไม่นั้น รองศาสตราจารย์ ยุทธพร กล่าวว่า ประเด็นเรื่อง ม.112 เป็นประเด็นที่มีความสำคัญประการหนึ่ง เพราะในระยะระยะเวลาที่ผ่านมามีบุคคลที่ต้องคดีเหล่านี้เป็นจำนวนมาก มีกระบวนการในการใช้กฎหมายให้กลายเป็นการเมือง จึงต้องพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ มีการเปิดพื้นที่ในการรับฟังทุกฝ่าย ทั้งประชาชน และฝ่ายการเมือง หรือแม้กระทั่งการหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบในการพิจารณาด้วย เพราะฉะนั้น การพูด และมองอย่างรอบด้านในประเด็นนี้ จะต้องหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน เพื่อให้สามารถคลี่คลายปมแห่งความขัดแย้งสำคัญตรงนี้ได้พอสมควร
“ผมยังเชื่อมั่น ว่าการเปิดพื้นที่ทางการเมืองในครั้งนี้ เป็นการพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรมในสมัย และบรรยากาศที่มีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเปิดให้คนทุกกลุ่ม ร่วมกันแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง อย่างมีวุฒิภาวะ“ รองศาสตราจารย์ ยุทธพร กล่าวทิ้งท้าย