นายกฯขอผู้ว่าฯแบงก์ชาติอย่าถือทิฐิ จี้หั่นดอกเบี้ย 0.25 % เหลือ 2.25 % ระบุดอกเบี้ยเป็นเรื่องใหญ่กระทบค่าใช้จ่ายปชช. ให้กนง.ตัดสินใจก่อนเกิดภาวะเงินฝืด เชื่อเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหา 
       
     
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ก.พ.67 เวลา 09.30 น.  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงโอกาสที่จะนัดคุยกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในมิติต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ว่า ขออนุญาตเรียนว่าจริงๆ แล้วเรื่องนโยบายการเงินการคลังเราคุยผ่านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เรื่องตัวเลขเหล่านี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้อธิบายแล้ว เรื่องตรรกะเงินเฟ้อที่มาได้อย่างไรเรื่องที่เรามีมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนลดค่าใช้จ่ายมาอย่างไร
    
 นายเศรษฐา กล่าวย้ำว่า ขออนุญาตเรียนว่าจริง ๆ แล้วเรื่องเงินเฟ้อกับดอกเบี้ยเป็นเรื่องใหญ่ แต่เราอย่าลืมว่าจริง ๆ แล้วเงินเฟ้อที่มันติดลบส่วนหนึ่งเกิดจากที่เรามีมาตรการรัฐออกไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเพื่อลดรายจ่าย นั่นแสดงให้เห็นว่จริง ๆ ตรงนี้ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อไม่มี ถ้าจะมีเกิดจากรากปัญหาคือต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น แต่เมื่อเราไปคุมตรงนั้นได้เงินเฟ้อก็ไม่มี
    
 ทั้งนี้มาตรการที่จะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ลดต้องดูที่เงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการคือเกิดจากการใช้จ่าย แสดงว่าดีมานมันไม่มี เงินเฟ้อไม่มี ถ้าตรงนี้ไม่เกิดแสดงว่าปลอดภัยหรือเปล่าที่จะเลิกลดดอกเบี้ยได้แล้วเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าเกิดลดดอกเบี้ยมาแล้วเกิดมีปัญหาเรื่องของดีมานซึ่งมันเยอะอยู่แล้วก็อาจจะก่อให้เกิดเงินเฟ้อได้ แต่อย่างนี้ตนคิดว่าดูจากตัวเลขทั้งสองฝ่ายแล้ว Cost-push หรือเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาแพงที่เกิดขึ้นมาในอดีต จริง ๆ แล้วตรงนี้ตนเชื่อว่าพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยมีอีกเยอะมาก
   
  นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องการพูดคุยเราได้มีการพูดคุยกันชัดเจนอยู่แล้ว คงเป็นเรื่องความเห็นต่างหรือเรื่องทิฐิตนไม่ทราบ แต่มันชัดเจนอยู่แล้วที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันมา 4 เดือนแล้ว เรื่องมาตรการที่เราพยายามช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่าย ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมันต่าง ๆ รวมถึงการพักชำระหนี้ต่างๆมันเป็นการบรรเทารายจ่ายของพี่น้องประชาชนอย่างที่นายภูมิธรรมเรียนไปในเรื่องที่เราไม่สามารถใช้งบประมาณได้ จนเดือนพฤษภาคมนี้ ตอนนี้รัฐบาลขับเคลื่อนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้โดยนโยบายอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายวีซ่าฟรี การกระตุ้นการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติที่จะมาลงทุน เป็นการใช้นโยบายอย่างเดียว ฉะนั้นเราต้องการให้มีการลงทุนเกิดขึ้นเพื่อเกิดการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นการลดดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ พวกเราทุกคนยืนอยู่ตรงนี้รู้อยู่แล้วดอกเบี้ยเป็นภาระค่าใช้จ่ายขนาดไหน หากลดดอกเบี้ยไป เรื่องการจะเกิดเงินเฟ้อตนว่าความเสี่ยงเกือบไม่มีเลย ตรงนี้ชัดเจนอยู่แล้ว
   
  ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการของแบงก์ชาติที่ออกมาแต่ละครั้งมองเป็นการกระตุกแขนขารัฐบาลที่จะออกนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า คิดว่าตรงนี้สื่อมวลชนคงต้องไปพิจารณาเองก็แล้วกัน แต่เชื่อว่าเราน่าจะทำงานด้วยกันต่อไปได้ อย่างที่นายภูมิธรรมพูดไปคำแรกว่านโยบายการเงินการคลังต้องไปพร้อมกัน ต้องไปด้วยกัน ต้องควบคู่กันไป และวันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วเรื่องประเด็นกรอบเงินเฟ้อที่ตอนนี้ยังติดลบอยู่ ยังไม่อยู่ในจุดขั้นต่ำของกรอบเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ ฉะนั้น 2.5 % ลดลงไปเหลือ 2.25 % ก็ยังมีพื้นที่อีกเยอะ ถ้าเกิดมีวิกฤตหรืออะไรเกิดขึ้นก็ยังสามารถลดลงไปได้อีกเยอะมาก วันนี้ทำไมเราถึงไม่เริ่มทำกัน
   
  เมื่อถามว่า จะทำอย่างไร ให้ความเห็นต่างระหว่างรัฐบาลและธปท.ลงตัวกันได้ นายเศรษฐา กล่าวว่า นี่ก็มีการพูดคุย เจอครั้งล่าสุดผู้ว่าฯ ธปท. ก็ได้ระบุว่ามีอะไรก็ได้มีการสื่อสารผ่าน สศค.อยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรามีการพูดคุยกันอยู่ตลอดอยู่แล้ว การสื่อสารเป็นการพูดจากันอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้มีการก้าวร้าว ตรงนี้เป็นบทพิสูจน์อยู่แล้ว ตัวเลขก็เห็นด้วยกันและไม่มีใครมาถกเถียงว่าตัวเลขที่มันติดลบมาเป็นตัวเลขที่ไม่จริงไม่ตรงกัน ตัวเลขมันก็ชัดเจนอยู่แล้ว
    
 ฉะนั้นก็ยอมรับมาว่าจริง ๆ แล้วเงินเฟ้อมันไม่ใช่ปัญหาเลย ตอนนี้ปัญหาคือว่ามันเป็นดีเฟชั่นหรือเงินฝืดแล้ว  ผมจึงเชื่อว่าเรื่องการลดดอกเบี้ยมันถึงเวลาแล้ว ก็ฝากไว้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะต้องมีการประชุมกัน" นายเศรษฐา กล่าว
    
 ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ส่วนหนึ่งสาเหตุมาจากนโยบายของรัฐบาลใช่หรือไม่ ว่า เมื่อวาน(5 ก.พ.)กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่ตนอยากทำความเข้าใจว่ามาตรการที่รัฐบาลออกมาเป็นมาตรการในการควบคุมดูแลไม่ให้ร้านค้า หรือผู้ประกอบการไม่ให้เอากำไรมากเกินไป เพื่อให้หาจุดสมดุลร่วมกันได้ ซึ่งเหตุที่ทำประชาชนประสบวิกฤติภาวะเดือดร้อนมีปัญหาเรื่องค่าครองชีพ ก็เป็นเรื่องที่ทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ร่วมกัน โดยมีกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ทั้งหมดเกิดขึ้น เพราะเราทำงานเราดูแลประชาชนเป็นหลัก ขณะเดียวกัน เราทำงานในการเสริมให้ราคาสินค้าถูกควบคุมดูแล และสนับสนุนให้ผู้ผลิตต่างๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าเรามีการจัดการสินค้าเกษตรหลายรายการ โดยในวันที่ 8 ก.พ.นี้ เราจะมีการแถลงชี้แจงให้มีความชัดเจน ทั้งเรื่องยางพารา ข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพด ที่มีการขึ้นราคา จะเห็นว่าเราจะใช้มาตรการเพื่อให้มีความสมดุลในหลายฝ่าย เพื่อดูแลทั้งผู้ประกอบการ และเอกชน
    
 นายภูมิธรรม กล่าวว่า การที่บอกว่าการดำเนินการมาตรการของรัฐทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ตนว่าต้องมาทบทวนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยการดำเนินการของรัฐในการเข้าไปดูแล ถ้าเกิดปัญหาจากเราจะเกิดไม่นาน และไม่ต่อเนื่อง แต่การเกิดปัญหาต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่ามันมีปัญหาที่ดำรงอยู่ ตนคิดว่าในทางปฏิบัติรัฐบาลใช้มาตรการการคลังเกือบทุกเรื่อง และทุกกระทรวงได้ดำเนินการแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มันคือปัญหามาตรการทางการเงิน หากจะให้ปัญหาได้รับการแก้ไขเป็นอย่างดี ในประเทศอื่นมาตรการการเงินการคลังต้องควบคู่กัน จึงต้องถามว่าผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลมาตรการทางการเงิน ได้ดำเนินการอะไรบ้าง มีการลดดอกเบี้ยหรือไม่
      
 "ผมว่าตอนนี้ภาระหน้าที่อยู่ที่แบงก์ชาติ และผู้ที่รับผิดชอบดูแลมาตรการทางการเงิน ซึ่งมันจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้ มันต้องทำทั้งสองเรื่องควบคู่กันถึงจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ถ้าดูเรื่องเดียว ดูไม่หมด จะต้องดูทั้งสองเรื่อง เป็นสองขาประกอบกัน มันถึงจะแก้ปัญหาได้ กระทรวงพาณิชย์เพียงสะท้อนตัวเลข แต่การวิเคราะห์ตัวเลขต้องมาพูดคุยกัน" นายภูมิธรรม กล่าว