วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น.ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท นายวิทยา ชพานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) จังหวัดชัยนาท ปี 2566
นางรัชนี โพธิ์ศรีนายอำเภอหนองมะโมง กล่าวว่า อำเภอหนองมะโมง มีเนื้อที่ ประมาณ 191,14 ไร่ เป็นเนื้อที่การเกษตร จำนวน 154,693 ไร่ ประมาณ 80% ของเนื้อที่ทั้งหมด มีเกษตรกร 4,100 ครัวเรือน พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน โดยเฉพาะข้าว ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้หลักของอำเภอหนองมะโมง จากข้อมูลสถานการณ์ด้านการเพาะปลูกข้าวของเกษตรกรที่ผ่านมา พบว่ายังมีชาวนาอีกจำนวนมาก ที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีการใช้ปัจจัยการผลิตเกินความจำเป็น มีปัญหาด้านวัชพืชและเกิดการระบาดของโรคแมลงศัตรูข้าวเป็นประจำ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงและเสี่ยงต่อการขาดทุน
ในการนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท และหน่วยงานภาคี จึงได้จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) จังหวัดชัยนาท ปี 2566 ที่ว่าการอำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีของพี่น้องเกษตรกรชาวนาที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับ ความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อทำให้ต้นทุนลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพตรงความต้องการของตลาด
นายวิทยา ชพานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า การดำเนินการของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป็นกลไกสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และให้ความรู้แก่พี่น้องเกษตรกร ที่หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จะต้องร่วมกันดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมาย เนื่องจากสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการระบบการผลิตสินค้าเกษตรมากยิ่งขึ้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักดีถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ด้านการผลิตสินค้าเกษตรดังกล่าว และเข้าใจถึงความต้องการของพี่น้องเกษตรกร
จึงได้สร้างกลไกการถ่ายทอดความรู้ที่จำเป็นสู่เกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือที่เรียกกันว่า "ศพก." ซึ่งหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของพี่น้องเกษตรกร โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยยึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งประยุกต์องค์ความรู้ต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้น ๆ