ตรุษจีนปีนี้คึกคัก คาดเงินสะพัดเฉียด 5 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 10% กังวลสินค้า-ค่าท่องเที่ยวแพงขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันตรุษจีนปี 2567 โดยดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 25-31 ม.ค.67 จำนวน 1,300 ตัวอย่าง ภาพรวมคาดว่าเทศกาลตรุษจีนปีนี้ จะมีเม็ดเงินสะพัดทั่วประเทศประมาณ 49,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.1% จากปีก่อน
โดยเมื่อถามถึงความคึกคักของตรุษจีนปีนี้เทียบกับปีก่อนพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 35.4% ระบุว่า ปีนี้คึกคักกว่าปีก่อน ซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่างอีก 34.3% ที่ระบุว่า คึกคักเท่าเดิม ส่วนอีก 30.3% ระบุว่า ปีนี้คึกคักน้อยกว่าปีก่อนพบว่า และเมื่อถามถึงมูลค่าการใช้จ่ายเงินช่วงตรุษจีนปีนี้ ส่วนใหญ่ 40.3% ตอบว่าเพิ่มขึ้น รองลงมา 33.7% ตอบว่า ลดลง และอีก 26.0% ตอบว่าเท่าเดิม โดยเหตุผลที่ตอบว่าใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น เป็นเพราะราคาสินค้าแพงขึ้น, ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น, แก้ชง/มีสิ่งที่จะขอมากขึ้น และผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่วนเหตุผลที่ตอบว่าใช้จ่ายเงินลดลง เป็นเพราะต้องการลดค่าใช้จ่าย, รายได้ลดลง, มีหนี้สินมากขึ้น และภาวะเศรษฐกิจแย่ลง
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 57.2% จะมีการไหว้เจ้า/บรรพบุรุษ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 42.8% ระบุว่า ไม่ได้ไหว้ โดยเมื่อสำรวจในกลุ่มที่มีการไหว้เจ้า/บรรพบุรุษ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 37.6% จะนิยมไปซื้อของไหว้ที่ตลาดสด รองลงมา ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ต ตามลำดับ
ส่วนการตั้งงบวางแผนใช้จ่ายสำหรับช่วงตรุษจีนปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นการซื้อของเซ่นไหว้ คาดว่าใช้งบประมาณ 5,012 บาท รองลงมา ทำบุญ ประมาณ 1,138 บาท การเที่ยวในประเทศ 4,455 บาท แตะเอีย 2,575 บาท และไปรับประทานอาหาร 1,314 บาท โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 35.2% ตอบว่าปริมาณการซื้อสินค้าในช่วงตรุษจีนปีนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากปี 66 รองลงมา 27.1% ตอบว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน และ 20.1% ตอบว่า ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงราคาของเซ่นไหว้ตรุษจีนปีนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 46.5% ระบุว่า แพงขึ้นเล็กน้อย รองลงมา 30.1% ระบุว่า แพงขึ้นมาก ส่วนอีก 22.8% ระบุว่า ราคาไม่เปลี่ยนแปลง และมีเพียง 0.6% ที่ระบุว่า ถูกลงเล็กน้อย
สำหรับการวางแผนการท่องเที่ยวช่วงตรุษจีนปีนี้ พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 44.3% ระบุว่า ไม่ได้วางแผนไปเที่ยวไหน ส่วนอีก 22.7% ระบุว่า มีการวางแผนจะไปเที่ยว โดยผู้ที่ตอบว่าไม่มีแผนจะไปเที่ยวช่วงตรุษจีน เนื่องจากส่วนใหญ่ไปเที่ยวแล้วในช่วงปีใหม่ รองลงมาคือ รายได้ลดลง ภาระหนี้มาก และที่ทำงานไม่ได้หยุด
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงกลุ่มที่วางแผนจะไปเที่ยวพบว่า ส่วนใหญ่ 96.1% ระบุว่า จะเที่ยวภายในประเทศ โดยจะเป็นการท่องเที่ยวแบบค้างคืน ประมาณ 2-3 วัน ขณะที่อีก 3.9% ระบุว่าวางแผนไปต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะไปประเทศญี่ปุ่น รองลงมา คือ เกาหลี และฮ่องกง
เมื่อถามถึงประเด็นเรื่องเงินแตะเอีย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 52.3% เป็นผู้ให้แตะเอีย ขณะที่อีก 47.7% เป็นผู้รับแตะเอีย โดยในกลุ่มที่เป็นผู้รับ ส่วนใหญ่ 77.3% คาดว่าปีนี้จะได้รับแตะเอีย และอีก 22.7% คาดว่าจะไม่ได้รับแตะเอีย ทั้งนี้ฝั่งผู้ให้แตะเอียส่วนใหญ่ 50.5% ตอบว่าการให้แตะเอียปีนี้ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน และส่วนใหญ่ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน มีผลในระดับปานกลางต่อการให้แตะเอีย ขณะที่ฝั่งผู้รับแตะเอียส่วนใหญ่ 37.7% ตอบว่าจะนำเงินแตะเอียที่ได้ไปเก็บออม รองลงมา นำไปซื้อเครื่องแต่งกาย ไปเที่ยว และไปรับประทานอาหาร ตามลำดับ
สำหรับความกังวลในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ จากคะแนนเต็ม 10 พบว่า สิ่งที่กลุ่มตัวอย่างกังวลมากที่สุดคือ การขึ้นราคาสินค้าที่จำเป็นในช่วงเทศกาล 7.35 คะแนน อันดับสอง ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวแพงขึ้น 6.96 คะแนน อันดับสาม ความปลอดภัยของบ้านพักในช่วงไปค้างที่อื่น 5.58 คะแนน อันดับสี่ การจี้/ปล้น ขโมย ล้วงกระเป๋า 5.13 คะแนน และอันดับห้า การเกิดอัคคีภัย 5.11 คะแนน โดยเมื่อถามถึงพรที่ต้องการ อันดับแรก คือ ขอให้ตนเองและครอบครัวร่ำรวยเงินทอง รองลงมา ขอให้สุขภาพแข็งแรง ขอให้ครอบครัวมีความสุขรักใคร่ปรองดอง ขอให้มีโชคลาภตลอดปี และขอให้กิจการรุ่งเรือง ขายดี ตามลำดับ