เรืองไกรยื่นหนังสือปปช.เร่งตรวจสอบคำวินิจฉัยศาลรธน. ปม 44 ส.ส.ก้าวไกล มีพฤติการณ์จงใจทำผิดจริยธรรมร้ายแรง ก่อนส่งศาลฎีกาวินิจฉัยหรือไม่  'ราเมศ' เตือน วิจารณ์คำวินิจฉัยศาล รธน.ระวังถูกดำเนินคดี แนะแกนนำ 'ก้าวไกล' อย่าให้ท้ายแฟนคลับ 

    
 เมื่อวันที่ 4 ก.พ.67 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารรัฐ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. รีบนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ณ วันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา มาตรวจสอบเพิ่มเติมว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลจำนวน 44 คน มีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่ และจะต้องเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 หรือไม่ โดยมีเนื้อหาในหนังสือ สรุปได้ดังนี้ ข้อ 1.เมื่อวันที่ 29 ก.ย.64 ข้าฯ เคยร้องขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ว่ามีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่
   
  ข้อ 2. เมื่อวันที่ 18 ม.ค.65 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือที่ ปช 0019/0142 เรื่อง ชี้แจงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ระบุไว้บางส่วน ดังนี้   กรณีดังกล่าวมีข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 10 ก.พ.64 ผู้ถูกร้องกับคณะ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. . (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบพบข้อบกพร่องและได้แจ้งให้ผู้ถูกร้องทราบ โดยผู้ถูกร้องได้มีหนังสือแจ้งขอถอนการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. . (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) ดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มี.ค.64 ผู้ถูกร้องกับคณะ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. . (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) เป็นครั้งที่สอง ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 2 ครั้ง
    
 ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามดำริของ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งผู้เสนอ (ผู้ถูกร้อง) ให้แก้ไขข้อบกพร่องตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 111 ที่กำหนดว่า ร่างพระราชบัญญัติที่มีผู้เสนอตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญให้ประธานสภาทำการตรวจสอบ และหากมีข้อบกพร่อง ให้ประธานสภาแจ้งผู้เสนอทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้แจ้งให้ผู้ถูกร้องทราบแล้ว เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. . (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) จึงยังไม่ได้รับการอนุญาตให้บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 110 วรรคสี่ ร่างพราชบัญญัติฉบับนี้จึงยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย
    
 กรณีการร่างรัฐธรรมนูญที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้น  ไม่พบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 มีการกำหนดบทลงโทษผู้เสนอร่างกฎหมายในเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างใด
    
 ข้อ 3. ต่อมาวันที่ 31 ม.ค.67 ตามข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/1567 ได้เผยแพร่ผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74 
    
 ข้อ 4. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 เป็นกรณีที่มีกล่าวหาเกี่ยวกับการที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นมูลกรณีในทำนองเดียวกันกับคำร้องของข้าฯ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุไว้ท้ายหนังสือดังกล่าวส่วนหนึ่งว่า หากข้าฯยังมีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่จะสนับสนุนว่าข้อกล่าวหามีรายละเอียดเพิ่มเติมเพียงพอที่จะดำเนินการต่อไป โปรดแจ้งข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.
    
 ข้อ 5. เนื่องจากมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 3 วรรคสอง ระบุว่า มาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และ คณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 219 วรรคสอง ด้วย หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ข้อ 5 ระบุว่า ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ข้อ 6 ระบุว่า ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพ แห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อ 27 วรรคหนึ่ง ระบุว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง
     
 ข้อ 6. ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 บัญญัติว่า มาตรา 87 เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย การเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง และการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาซึ่งต้องกําหนดให้ใช้ระบบไต่สวนและให้ดำเนินการโดยรวดเร็ว ให้นําความในมาตรา 81 และมาตรา 86 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม การเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจมอบหมายให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ดำเนินการในศาลแทนได้
    
 ข้อ 7. ดังนั้น โดยผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 จึงควรถือเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมเพียงพอที่จะขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไปได้ กรณีจึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. นำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ณ วันที่ 31 มกราคม 2567 มาเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อนำไปประกอบการตรวจสอบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน มีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่
    
 ด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีความเคลื่อนไหวหลังการอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีพรรคก้าวไกล ว่า ขอเรียกร้องให้หยุดการแสดงความคิดเห็นที่มีลักษณะเป็นการให้ร้ายโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ ในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการโพสต์ข้อความในลักษณะการปลุกปั่นไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ไม่ควรเกิดขึ้น นี่คือหลักการพื้นฐานในการเคารพกระบวนการยุติธรรม
    
 สำหรับคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แน่นอนว่ามีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ มีทั้งคนชนะและแพ้คดี แต่ทุกคนต้องน้อมรับคำตัดสินของศาล ไม่เช่นนั้นหลักการของบ้านเมืองเดินต่อไปไม่ได้ คดีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชนะได้กลับเข้าสู่สภา โห่ร้องไชโย พออีกคดีพรรคก้าวไกลแพ้ มีมวลชนโดยเฉพาะในสังคมออนไลน์กลับด่าทอ โจมตีศาลรัฐธรรมนูญอย่างเสียหาย พอชนะรูดซิปใส่กระเป๋าเงียบกริบ พอแพ้กลับทำตรงกันข้ามกัน แกนนำต้องอธิบายมวลชนให้เข้าใจอย่าส่งเสริมให้ท้าย
     นายราเมศ กล่าวว่า คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ศาลไม่ได้เริ่มต้น ตั้งต้น หรือนั่งปั้นแต่งข้อเท็จจริง แต่เกิดขึ้นจากการมีผู้มาร้อง ศาลพิจารณาตามข้อเท็จจริงอย่างละเอียด ผู้ถูกร้องมีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง นำพยานหลักฐานต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ การโดนโจมตีให้ร้าย ย่อมไม่เป็นธรรมต่อศาลรัฐธรรมนูญ บ้านเมืองหากไม่ยอมรับกระบวนการก็จะมีแต่ความขัดแย้งไม่จบสิ้น การวิจารณ์คำวินิจฉัยสามารถทำได้ แต่จะต้องกระทำโดยสุจริต ที่สำคัญต้องไม่ใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย เสียดสี โจมตีด้วยข้อมูลที่บิดเบือน ระวังหากวิจารณ์ในลักษณะละเมิดศาลก็จะถูกดำเนินคดี
    
 วันเดียวกัน  ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีมวลชนจจำนวนหนึ่งเดินทางมารับ นายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ครบกำหนดโทษและได้รับการปล่อยตัวออกจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยมวลชนต่างเข้าไปแสดงความยินดีและได้มอบดอกไม้เพื่อเป็นกำลังใจ โดย นายเอกชัย กล่าวว่า ตนถูกดำเนินอาญารวม 30 คดี และคดีสิ้นสุดแล้ว 17 คดี อยู่ในชั้นอุทธรณ์ 2 คดี, รอสืบพยานอีก 1 คดี และอีก 10 คดี ที่อยู่ระหว่างรอส่งฟ้อง และคดีที่ตนถูกปล่อยตัวมาในวันนี้มองว่าเป็นคดีที่ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด โดยมีการตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น อาทิ 1.คดีนี้เป็นการแจ้งข้อหาใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากการโพสต์เล่าเรื่องชีวิตในเรือนจำ ซึ่งตนโพสต์มาทั้งหมดกว่า 200 ตอน ตั้งแต่ปี 2559-2560 แต่ปรากฏว่าเมื่อตนมาเคลื่อนไหวในประเด็นนาฬิกาของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ ตำรวจ ปอท.ได้ไปนำคลิปวิดีโอของตนมา 1 คลิปเพื่อฟ้องดำเนินคดีกับตน
     
 2. หลังจากที่ตำรวจ ปอท.แจ้งข้อกล่าวหา ตนก็เข้ารับทราบข้อกล่าวหาช่วงอยู่ในต้นปี 2561 ซึ่งพอให้การเสร็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดแรกก็สั่งไม่ฟ้อง แต่พอมาปลายปี 2561 ตนก็ออกมาเคลื่อนไหว ในประเด็นของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ในขณะนั้น ทางตำรวจ ปอท.ก็นำคดีนี้ขึ้นมาทำอีกครั้งพร้อมแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดใหม่เข้ามาดำเนินการและสั่งฟ้องตนในที่สุด
       
3.ช่วงที่ศาลชั้นต้นตัดสิน ศาลให้ลงโทษ 1 ปี แต่ให้ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือ 4 เดือน เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ และให้เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เนื่องจากโดนใบแดง จากก่อคดีอาญาซ้ำในรอบ 5 ปี เหลือ 1 ปี ซึ่งการคำนวณในลักษณะนี้ไม่เป็นไปตามกฏหมายอาญา มาตรา 54 เพราะทำให้ตนต้องถูกคุมขังเพิ่มถึง 40 วัน  และ 4.หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุก 1 ปี ตนได้ขอยื่นในชั้นฎีกา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ประกันตัว ซึ่งตนก็ไม่ทราบเหตุผลว่าเหตุใด เพียงคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมีโทษเพียง 1 ปี และไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เหตุใดศาลถึงไม่ให้ประกันตัว
     
ฝากไปถึงพรรคการเมืองว่าอย่าทอดทิ้งประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองและคดีมาตรา 112 ที่ปัจจุบันมีอยู่ในเรือนจำจำนวนมาก โดยเรียกร้องให้มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และผมเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมสำหรับเหยื่อทางการเมืองและคดีมาตรา 112 แต่ไม่เห็นด้วยถ้ามีการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน