เรืองไกร ร้อง กกต. สอบผู้ช่วยหาเสียง กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบ เลือกตั้งท้องถิ่น หรือไม่ ชี้ควรเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นเฉพาะแต่ละที่ ไม่ให้ตระเวนปราศรัยหลักหลายจังหวัด คารม เตือน โรม ระวังคำพูดพาดพิง"อนุทิน"เสียหาย จ้อข้างนอกไร้เอกสิทธิ์ สส.คุ้มครอง ยัน"กฟภ."งดจ่ายไฟฟ้าให้คู่สัญญาได้ หากหลักฐานปรากฏชัด"ขาดแคลนพลังงาน-กระทบความมั่นคง
เมื่อวันที่ 26 ม.ค.68 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า จากข่าว กกต.ที่ 10/2568 วันที่ 14 ม.ค. 68 เผยแพร่ข่าวเรื่องผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยอ้างถึงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องนั้น
นายเรืองไกร กล่าวว่า ได้ติดตามความหมายของ ผู้ช่วยหาเสียง จากกฎหมายและระเบียบที่ กกต. อ้างถึง ซึ่งเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น พบว่า แตกต่าง จากความหมายของ ผู้ช่วยหาเสียง สส. และปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการเลือกตั้งท้องถิ่นขณะนี้ อาจมีการใช้ผู้ช่วยหาเสียงโดยฝ่าฝืนระเบียบ กกต. ไปแล้ว หลายครั้งหลายที่หลายกรณี
นายเรืองไกรกล่าวว่า วันนี้ จึงได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึง กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบว่า ผู้ช่วยหาเสียง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ของแต่ละท้องถิ่น เป็น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2563 หรือไม่ และ กรณีมีความปรากฏทั่วไปว่ามีผู้ช่วยหาเสียงหรือผู้ใด กระทำการฝ่าฝืนไปแล้ว กกต. จะต้องรีบดำเนินการกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง อย่างไร หรือไม่ โดยมีข้อกฎหมายในคำร้อง ดังนี้
ข้อ 1. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตราที่เกี่ยวข้อง (บางส่วน)มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมายความว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง
สภาท้องถิ่น หมายความว่า สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด สภาเทศบาล สภาองค์การบริหารส่วนตำบล สภากรุงเทพมหานคร สภาเมืองพัทยา และสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง
ผู้บริหารท้องถิ่น หมายความว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา และผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
มาตรา 9 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจ ออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 38 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึง วันเลือกตั้ง ในกรณีที่มีการย้ายทะเบียนบ้านออกจากเขตเลือกตั้งหนึ่งไปยังอีกเขตเลือกตั้งหนึ่งภายในองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกัน อันทำให้บุคคลมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกัน น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้ง ให้บุคคลนั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครั้งสุดท้ายเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
ข้อ 2. ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2563 กำหนดไว้ดังนี้ ข้อ 4 ในระเบียบนี้ ผู้สมัคร หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยหาเสียง หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับการว่าจ้างจากผู้สมัครให้เข้าร่วม กิจกรรมในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาหรือช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเป็นบุคคลที่ได้แจ้งรายละเอียด หน้าที่และค่าตอบแทนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ยกเว้นบุคคล ในครอบครัว ได้แก่ สามี ภริยาหรือบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 3. ดังนั้น ผู้ช่วยหาเสียง จึงควรหมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเฉพาะแต่ละ สภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น เช่น นาย ท. ซึ่งอ้างเป็น ผู้ช่วยหาเสียง แต่กลับเป็นผู้ปราศรัยหลักบนเวทีหาเสียง นายกฯอบจ. หรือ สภา อบจ. ในหลายจังหวัด ซึ่งสื่อมวลชนต่าง ๆ ลงข่าวอย่างชัดเจน เป็นต้น ข้อ 4. เมื่อมีข้อเท็จจริงที่เป็นความปรากฏโดยทั่วไป ที่แสดงให้เห็นว่า มีการหาเสียงเลือกตั้งในแต่ละ สภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ได้มีการใช้ ผู้ช่วยหาเสียง ที่อาจไม่ใช่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามความในกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กกต. รู้หรือควรรู้อยู่แล้วนั้น เนื่องจาก ผู้ช่วยหาเสียงผู้บริหารหรือสภาท้องถิ่น กับ ผู้ช่วยหาเสียง สส. นั้น มีความหมายแตกต่างกัน
ข้อ 5. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (บางส่วน)มาตรา 4 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรข้อ 6. ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กำหนดไว้ดังนี้ ข้อ 4 ในระเบียบนี้ ผู้สมัคร หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ผู้ช่วยหาเสียง หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับการว่าจ้างจากผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ให้เข้าร่วมกิจกรรมในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาหรือช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเป็นบุคคลที่ได้แจ้งรายละเอียด หน้าที่และค่าตอบแทนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
ข้อ 7. จากบทบัญญัติในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตราที่เกี่ยวข้อง และข้อกำหนดในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2563 ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างข้างต้น ซึ่ง ตามข่าวประชาสัมพันธ์ที่ 10/2568 วันที่ 14 มกราคม 2568 ซึ่ง กกต. ทราบแล้วนั้น กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้มีการตรวจสอบต่อไปว่าการหาเสียงเลือกตั้งในแต่ละ สภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ได้มีการใช้ ผู้ช่วยหาเสียง ที่อาจไม่ใช่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามระเบียบ กกต. หรือไม่
ด้าน นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะสมาชิกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีที่ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์และการปฎิรูประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ออกมาพาดพิงกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพิกเฉย ไม่งดจ่ายไฟฟ้าให้กับบริษัทคู่สัญญาในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้แก๊งคอลเซนเตอร์ใช้เป็นแบตสำรองให้กับขบวนการแก๊งคอลเซนเตอร์ ว่า ข้อเท็จจริง เรื่องนี้ หากได้ศึกษารายละเอียดจริงๆ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ไม่เคยเพิกเฉย ซึ่งเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการ กฟภ.ครั้งที่ 1/2568 ในวาระประชุม มีประเด็นที่ชัดเจนว่า กฟภ.ไม่อาจงดจ่ายไฟฟ้าโดยพลการได้ เพราะมีผลกระทบต่อคู่สัญญา การงดจ่ายไฟฟ้าต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง ไม่ใช่อำนาจของกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ทั้งนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเตรียมนำเสนอเพื่อขอแนวทางในการปฎิบัติในการงดการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประเทศใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้
นายคารม กล่าวต่อว่า การที่นายรังสิมันต์ มาพูดให้สัมภาษณ์ และพูดในเวทีหาเสียง อบจ.กล่าวหา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เพิกเฉยต่อการดำเนินการของ กฟภ.ตนเองในฐานะสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ต้องขอเรียนว่า นายรังสิมันต์ ซึ่งเป็นถึงประธาน กมธ.ฯ จะต้องระมัดระวังการพูดให้มาก การพูดให้สัมภาษณ์กับสื่อและบนเวทีปราศรัยไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง เป็นประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ น่าจะรู้ว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความมั่นคงแนวชายแดน การพูดในลักษณะดังกล่าว ทำให้นายอนุทิน เสียหาย ขอเตือนให้ระมัดระวัง แนะนำให้ศึกษาข้อกฎหมายและเรื่องอื่น ที่เขาทำสัญญาไว้ให้ดี การขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านนั้น กฟภ.ทำตามมติคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2539 ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเสนอ
นายอนุทินไม่เคยนิ่งดูดาย หรือเพิกเฉยกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และทำตามนโยบายของรัฐบาลทุกอย่าง ปัญหาของแก็งคอลเซนเตอร์ เป็นเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนและสร้างความเสียหายกับประเทศอย่างมาก สิ่งไหนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ นายอนุทินจะดำเนินการทันที เช่น การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 นายอนุทินได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งแก้ไขปัญหาทันที