วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 นายธีรยุทธ สุววรรณเกสร ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครอง เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีกับ สส.พรรคก้าวไกล 44 คน ฐานฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงกรณีร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 87
นายธีรยุทธ อ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจากการที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง และ สส.ของผู้ถูกร้องที่สอง คือ พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อสภาผู้แทนราษฎร และในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ได้ใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งในการที่จะเสนอแก้ไข มาตรา 112 และศาลวินิจฉัยว่าการแก้ไขดังกล่าวเป็นการลดทอนสถานะและการคุ้มครองสถาบัน มุ่งหมายแยกสถาบันออกจากความเป็นชาติไทย เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครอง ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ข้อ 5 ที่กำหนดว่าต้องยึดมั่นและดำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ
และข้อ 6 ที่กำหนดว่าต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน และข้อ 27 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ซึ่งมาตร ฐานจริยธรรมดังกล่าวข้อ 3 วรรคสอง กำหนดว่ามาตรฐานทางจริยธรรมนี้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 ด้วย
เมื่อถามว่าการยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้สอบจริยธรรมอย่างเดียวหรือต้องการให้ยุบพรรค นายธีรยุทธ กล่าวว่า เรื่องการยุบพรรคเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ซึ่งได้ยื่นคำร้องต่อ กกต.แล้วเมื่อวานนี้ (1 ก.พ.67)
ส่วนต้องการให้โดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วยหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ไม่ใช่ความต้องการของตน แต่จะไปถึงตรงนั้นได้หรือไม่ เป็นบทบัญญัติของกฎหมาย ขึ้นอยู่กับวิธีการไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐาน การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีครบถ้วน และยืนยันไม่ได้ปิดทางแก้ไขกฎหมาย แต่การดำเนินการต้องเป็นไปตามแนวทางนิติบัญญัติ
นายธีรยุทธ กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลได้ถอดนโยบายแก้ไข มาตรา 112 ออกจากหน้าเพจของพรรคแล้วนั้น ว่า เป็นการดำเนินตามคำสั่งของศาล เชื่อว่าเรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคน่าจะแนะนำไว้แล้ว ตนก็ไม่อยากก้าวล่วง แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่วนเรื่องนี้จะสามารถลดทอนโทษของการกระทำได้หรือไม่ เป็นหน้าที่ขององค์กรต่างๆที่จะตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานประ กอบการพิจารณา ซึ่งทราบว่านายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้สั่งการให้เตรียมตัวรวบรวมพยานหลักฐานในการต่อสู้คดี ซึ่งก็เชื่อว่าน่าจะมีหนทางอยู่บ้าง
ส่วนความเห็นของนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำกลุ่มก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ออกมาแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วย แล้วมองว่าการปลดนโยบายออกจากหน้าเพจเป็นการกระทำที่ป๊อดและสูญเปล่านั้น นายธีรยุทธ มองว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของนายปิยบุตร เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่การสร้างพรรคการเมืองขึ้นจะต้องมีเจตจำนงในการพิทักษ์รักษาดำรงไว้ซึ่งกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร จะต้องรับฟังคำวินิจฉัยนั้นไปปฏิบัติด้วย ดังนั้นการที่พรรคก้าวไกลนำคำวินิจฉัยของศาลไปดำเนินการด้วยความเคารพ ก็ถือเป็นการเคารพต่อกฎหมาย
ส่วนที่แกนนำบางคนแสดงความเห็นว่าการเอานโยบายแก้ไขมาตรา 112 ออกจากหน้าเพจแต่ถูกซ่อนไว้ภายใน และจะสามารถหยิบยกขึ้นมาดำเนินการเมื่อไรก็ได้นั้น นายธีรยุทธ กล่าวว่า หากมีการทำเช่นนั้นจริง ก็ยังคงเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีการซ่อนเร้น แต่ตนเชื่อว่าทีมกฎหมายจะมีการเสนอแนวทางให้กับพรรคที่มีความชัดเจนมากกว่านี้ ผลการดำเนินการในวันนี้ก็เป็นไปตามหน้าที่ในฐานะผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น