“พลตำรวจเอก อดุลย์” ประธานกรรมาธิการแรงงาน เร่งหารือผู้แทน IM Japan หาแนวทางส่งเสริมเด็กไทยไปทำงานประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ IM Japan

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานวุฒิสภา ให้การต้อนรับ ฮิเดทะกะ ทามุระ ผู้จัดการ องค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่น และคณะ ที่เข้าพบเพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมเด็กไทยไปทำงานประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ IM Japan

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานวุฒิสภา เปิดเผยว่า ในวันนี้ ได้หารือร่วมกันกับผู้แทนองค์กร IM Japan ในการหาแนวทางส่งเสริมเด็กไทยไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นผ่านองค์กร IM Japan เนื่องจากทางองค์กร IM Japan ได้แจ้งว่า ในปี 2567 นี้ มีเด็กไทยสมัครเข้าร่วมโครงการฯน้อย ทั้งๆที่เป็นโครงการที่ดี ที่ช่วยสร้างโอกาสให้เด็กไทย และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้นักศึกษาจบใหม่ที่กำลังจะตัดสินใจหางานทำ เรียนต่อ หรือต้องการจะพัฒนาทักษะฝีมือของตนเอง เพื่อนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพได้ในอนาคต  ซึ่งผมยินดีให้ความช่วยเหลือ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กไทยไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้มากขึ้น เพื่อจะได้รับประสบการณ์ ความรู้ กลับมาจะได้มาช่วยพัฒนาประเทศ   อย่างไรก็ดี ผมขอให้ โครงการ IM Japan ทบทวนรายละเอียด รวมถึงกำหนดแผนให้ชัดเจน และแจ้งกลับมาอีกครั้ง ซึ่งวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ผมจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และอาชีวศึกษา มาร่วมพูดคุยในสัปดาห์หน้าเพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ นี้ ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งอาจมาจากการประชาสัมพันธ์ที่ไม่เข้าถึง จึงทำให้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ น้อย 

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน โครงการฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นผ่านองค์กร IM Japan  มีระยะเวลาฝึกปฏิบัติงานฯ สูงสุด 3 ปี (36 เดือน) คุณสมบัติเบื้องต้นเป็นเพศชาย อายุ 18 – 30 ปี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)  ไม่จำกัดสาขาวิชา ไม่มีประวัติอาชญากรรม ไม่เคยทำงานหรือเข้าเมืองหรือพำนักโดยผิดกฎหมายหรือต้องห้ามเข้าญี่ปุ่น เป็นต้น  โดย ผู้ผ่านการคัดเลือก เดือนแรกจะได้รับเบี้ยเลี้ยง 80,000 เยน หรือประมาณ 19,000 บาท ค่าที่พัก ค่าน้ำ - ค่าไฟ ฟรี เดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 จะได้ค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนด หรือประมาณ 35,000 บาทต่อเดือน และไม่รวมค่าทำงานล่วงเวลา  ซึ่งเมื่อฝึกครบตามกำหนด จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพจำนวน 600,000 เยน หรือประมาณ 145,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 10 มกราคม 2567) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพเมื่อเดินทางกลับประเทศไทย รวมรายได้จากการทำงานตลอด 3 ปี ประมาณ 1.4 ล้านบาท