"นายกฯ" สวนโพล ลั่นลงพื้นที่ ไม่เห็นมีประชาชนบอกไม่ต้องการ"ดิจิทัลวอลเล็ต"   “รองเลขาฯนายกฯ”ซาวด์เสียงครม. พร้อมรับมือศึกซักฟอก ยัน”เศรษฐา”พร้อมตอบทุกปัญหาที่สว.ซักฟอก  ด้าน"เสรี"ฮึ่ม! นายกฯ ต้องมาแจงด้วยตัวเอง หวั่นถูกยื้อไปจนหมดสมัยประชุม ขณะที่"ทวี"บอกเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ยังไม่ปรากฏชื่อ "ทักษิณ" เข้าโครงการพักโทษ

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 ม.ค.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 2/2567 ถึงกรณีที่นิด้าโพลเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนไม่โกรธถ้ายกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า โพลก็มีหลายๆ อย่าง  ทั่วถึงหรือไม่ ถามคนที่จ.หนองบัวลำภู บึงกาฬหรือไม่ เพราะอย่างนั้นต้องดูนิดหนึ่งแล้วกัน เมื่อถามว่า ที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ประชาชนระบุว่าต้องการเงินดิจิทัลใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ไม่มีใครบอกว่าไม่ต้องการเลย”

ที่รัฐสภา นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ให้สัมภาษณ์กรณีที่สมาชิกวุฒิสภา(สว.) วางกรอบเวลาเตรียมจะอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติในที่ประชุมวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา153 เพื่อให้รัฐบาลชี้แจง และตอบข้อซักถามในช่วงเดือนก.พ.นี้ ว่า ผู้ใหญ่ในรัฐบาลได้พูดคุยกันเบื้องต้นว่าเมื่อใดที่เราได้รับญัตติจากสว.แล้ว รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีจะหารือกับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งเท่าที่ทราบจากรัฐมนตรีบางคน จะมีความพร้อมในช่วงปลายเดือนก.พ.นี้ ส่วนวันเวลาที่ชัดเจนต้องขอหารือกันก่อน ยืนยันว่ารัฐบาลยินดีที่จะตอบข้อซักถามของสว. ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลจะได้ชี้แจงนโยบายว่าทำอะไรไปบ้าง ที่เริ่มต้นมา4-5 เดือน และจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ก็ถือโอกาสขอบคุณสว.ด้วย หากสอบถามอย่างไรมา ก็เชื่อว่ารัฐบาลไม่มีปัญหา สามารถตอบได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า สว.ขอเวลาในการอภิปราย 2 วัน มากหรือน้อยเกินไป นายสมคิด กล่าวว่า ยังไม่ได้หารือ จริงๆมันอยู่ที่เนื้อหาไม่ใช่เวลา ถ้าเนื้อหาซ้ำเดิม ก็ไม่น่าฟัง ก็ขอให้นำเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมาอภิปราย 
“อย่าไปวิตกว่าจะมีวาทกรรมโจมตีสั่นคลอนรัฐบาล สภาฯถ้าพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ผมเชื่อว่าไม่มีปัญหา” รองเลขาฯนายกฯ กล่าว เมื่อถามว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะมาชี้แจงด้วยตนเองเลยหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ปกติผู้นำรัฐบาลมาอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีไม่มีปัญหากับสภาฯ พร้อมตอบทุกคำถาม 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.ก้าวไกล กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายพิธา ไม่สิ้นสุดลง กรณีถือหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ว่า ต้องขอแสดงความยินดีกับนายพิธา เชื่อว่าจะทำให้การทำงานในสภามีความสมบูรณ์มากขึ้น เพราะการทำงานในระบบสภาผู้แทนราษฎรต้องมีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เมื่อฝ่ายค้านมีสมาชิกเข้ามาทำงานเต็มตัว ทำให้วันนี้นายพิธาสามารถเข้ามาทำงานในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฝ่ายค้านได้อีกครั้งหนึ่ง ส่วนที่ถามว่ารัฐบาลเป็นห่วงหรือไม่ในการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน นั้น ส่วนตัวตนไม่เป็นห่วง ในทางตรงกันข้ามจะทำให้การเช็คแอนด์บาลานซ์มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามระบอบของสภาผู้แทนราษฎร

นายวรวุธ ยังกล่าวถึงกรณีสว.ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ตาม ม.153 ซึ่งมีประเด็นสังคมด้วยนั้น ตนคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่กระทรวงพม. โดยตนจะสามารถชี้แจงให้สมาชิกวุฒิสภารับฟังได้ว่าตลอด4เดือนที่ผ่านมาเราได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง หรือในทางกลับกันหากสมาชิกวุฒิสภามีข้อมูลที่จะมาตั้งข้อสังเกต หรือ ส่งเสริมต่อการทำงานของกระทรวง พม. เรายินดีน้อมรับนำไปปรับปรุงแก้ไข เพราะท้ายที่สุดแล้ว ข้อสังเกตหรือการอภิปรายของสว.นั้น เชื่อว่าเป็นประโยชน์ในการทำงานของรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีเสียงวิจารณ์ว่าสว. ไม่เคยเปิดอภิปรายรัฐบาลเช่นนี้ จะทำให้รัฐบาลตกเป็นเป้า นายวราวุธ กล่าวว่า นานาจิตตัง การที่ไม่เคยไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาทางสว. อาจจะยังมีข้อสงสัยใด แต่เมื่อวันนี้เกิดข้อสงสัยทางวุฒิสภาก็มีสิทธิ์ที่จะดำเนินการตามกฎหมาย การที่ไม่เคยไม่ได้แปลว่าห้าม ในกฎหมายเปิดช่องให้สว. ตั้งข้อสังเกตให้มีการอภิปรายได้ ก็ทำตามกติกาที่เกิดขึ้น ส่วนทางรัฐบาลยินดีที่จะให้คำชี้แจง และเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ชี้แจงกับพี่น้องประชาชนด้วยเช่นกัน
ด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.)  กล่าวถึงความคืบหน้าหลังยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ต่อประธานวุฒิสภาแล้ว ว่า ประธานวุฒิสภาได้นำญัตติดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิฯ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยมี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อประสานงานกับสว.ที่จะอภิปรายในญัตติดังกล่าว และรวบรวมประเด็นที่สว.แต่ละคนจะอภิปราย ซึ่งตอนนี้ได้จัดทำแบบสอบถามสว.แต่ละคนที่จะอภิปราย เพื่อจัดลำดับการอภิปรายให้ครอบคลุมทั้ง 7 ประเด็น เพื่อให้รัฐบาลจะได้จัดรัฐมนตรีมาชี้แจง ถ้าเป็นไปได้ขออภิปรายเดือนก.พ. และอยู่ที่รัฐบาลพร้อมและแจ้งวันที่สะดวกเป็นวันใด ซึ่งตนขออภิปราย 2 วัน คือวันจันทร์และวันอังคาร ดังนั้นครม.ต้องจัดรัฐมนตรี หรือนายกฯจะมาชี้แจงเอง แต่นายกฯควรจะมาชี้แจงเอง เพราะเป็นการอภิปราย ถ้าหัวหน้ารัฐบาลไม่มาก็อาจจะทำให้ความชัดเจนของเนื้อหาที่จะตอบไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และไม่เห็นนโยบายที่แท้จริงของรัฐบาล ดังนั้นจึงหวังว่านายกฯจะมาชี้แจงด้วยตัวเอง
สำหรับการกำหนดผู้อภิปรายมีจะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ และมีข้อมูลที่จะบอกกับรัฐบาลว่าควรจะต้องทำอย่างไร  เช่น นายถวิล เปลี่ยนศรี นายสมชาย แสวงการ นายคำนูญ สิทธิสมาน เป็นต้น แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจน จึงต้องทำแบบฟอร์ม ให้สมาชิกแสดงความจำนงอภิปราย ซึ่งตอนนี้สว.ที่มาแสดงความจำนงที่จะอภิปรายมีหลายสิบคนแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้ตัวญัตติยังไปไม่ถึงรัฐบาล ห่วงหรือไม่ว่าจะดึงให้ไปอภิปรายพร้อมกับช่วงที่ส.ส.อภิปราย ซึ่งอาจจะเป็นเดือนมี.ค. หรือเม.ย. นายเสรี กล่าวว่า อยู่ที่สะดวก ความจริงใจ และสุจริตใจ ในการที่จะมาร่วมกันทำหน้าที่เหล่านี้ เพราะระยะเวลาที่สภาฯจะครบสมัยประชุม คือวันที่ 9 เม.ย. ดังนั้นควรต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนก.พ.หรือมี.ค. แต่สว.ไม่อยากให้ชักช้า ถ้าหากอภิปรายในดือนก.พ.ได้  ก็ถือว่าสะดวกและไม่ต้องไปเสี่ยงกับช่วงที่จะหมดสมัยประชุม

เมื่อถามว่า นิด้าโพลเปิดความเห็นของประชาชนต้องการให้ชะลอโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไว้ก่อนซึ่งสอดรับกับในญัตติของสว.ด้วย นายเสรี กล่าวว่า ใช่ เพราะจริงๆเป็นเรื่องต่อเนื่องกันจากเรื่องของการแจกเงินดิจิทัล เป็นเรื่องของเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่งประชาชนอยากให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่ยั่งยืน ไม่เป็นภาระของประเทศ ซึ่งขณะที่สว.ยื่นญัตติดังกล่าวรัฐบาลก็ยังยืนยันที่จะทำโครงการนี้อยู่

เมื่อถามอีกว่า มองการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลอย่างไร ที่ล่าสุดมีคนของรัฐบาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์จากอธิบดีกรมการข้าว สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเด็นนี้จะนำไปสู่การอภิปรายด้วยหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ประเด็นนี้มีอยู่ในหัวข้อเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีหลายเรื่องทั้งเรื่องหมูเถื่อน ตีนไก่เถื่อน ที่เป็นการนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย และต้องยอมรับว่าการบริหาราชการแผ่นดินที่ผิดพลาด เกิดขึ้นในหลายภาคส่วน แม้กระทั่งประเด็นที่นำเสนอเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งนั้น รวมถึงการทุจริตของภาครัฐอยู่ในการตรวจสอบ ซึ่งเราต้องนำเรื่องเหล่านี้มาพูดกัน เพราะไม่ใช่มีแค่นี้

นายเสรี กล่าวว่า จริงๆ แล้ว เรื่องรับสินบนเกิดขึ้นตลอด แม้กระทั่งในช่วงเวลานี้ ประชาชนที่สัมผัสกับหน่วยงานราชการ ที่ให้บริการประชาชนถูกเรียกเงินกันมาตลอด และการเรียกเงินเขาเรียกแบบบีบบังคับ ให้ประชาชนยอมจ่ายให้ โดยมีวิธีการที่เจ้าหน้าที่เองไม่ได้เป็นคนเรียก แต่ใช้กระบวนการในการใช้อำนาจหน้าที่แล้วให้ประชาชนยอมจ่ายให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมาพูดกัน” นายเสรี กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือระเบียบคุมขังภายนอกเรือนจำฯ ว่า ระเบียบได้มีการประกาศใช้มาสักพักแล้ว ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ยังอยู่ระหว่างจัดทำระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ซึ่งจะต้องมารองรับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเรือนจำทั่วประเทศ

พ.ต.อ.ทวี กล่าว่า ตนขอยืนยันว่าระเบียบดังกล่าวถูกประกาศใช้ตามกฎหมายไม่ได้ออกเพื่อเอื้ออำนวยใครคนใดคนหนึ่ง เพราะแม้ว่าจะคุมขังยังสถานที่อื่นๆ แต่สถานที่นั้นก็จะมีสถานะเหมือนเรือนจำทุกประการ เพราะสถานที่เหล่านั้นจะต้องสอดรับกับวัตถุประสงค์การคุมขังของกรมราชทัณฑ์ เช่น ผู้ต้องขังยังจะต้องได้รับการพัฒนาพฤตินิสัยแม้ว่าจะถูกคุมขังนอกเรือนจำฯ เป็นต้น เพื่อผู้ต้องขังจะยังได้รับโอกาสในการพัฒนาตน

สำหรับระเบียบแนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ที่จะต้องออกมารองรับตัวระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ ยังคงอยู่ระหว่างการจัดทำโดย นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งตนทราบว่าอธิบดีกรมราชทัณฑ์เคยเข้ารายงานคณะกรรมการราชทัณฑ์ แต่ทางคณะกรรมการฯ ระบุว่าเป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์ ที่กรมฯ จะต้องไปขอรับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องข้อเสนอแนะเกี่ยวกับลักษณะผู้ต้องขังที่จะเข้าเกณฑ์ได้รับการคุมขังนอกเรือนจำฯ หรือสถานที่ใดที่จะมาเป็นสถานที่คุมขังนั้น ทางคณะกรรมการฯ อาจจะเสนอแนะทางกรมราชทัณฑ์หรือไม่ได้เสนอแนะก็เป็นได้ เนื่องจากกรมฯ จะต้องไปหารือพูดคุยกับผู้บัญชาการเรือนจำแต่ละแห่งว่าเรือนจำใดมีความแออัดอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ จะมีคณะกรรมการจากหลายภาคส่วน หากผู้ต้องขังรายใดจะได้ไปคุมขังนอกเรือนจำฯ ก็จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการประจำเรือนจำฯ (ระดับ ผบ.เรือนจำฯ) คณะกรรมการส่วนกลาง จนถึงระดับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก็จะมีถึง 3-4 คณะที่จะต้องพิจารณา

ส่วนกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปหรือไม่นั้น ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะเป็นผู้ดำเนินการและสรุปว่าผู้ต้องขังภายในเรือนจำฯ รายใดจะเข้าเกณฑ์ตามกลุ่มใด และแต่ละกลุ่มจะมีผู้ต้องขังกี่ราย จากนั้นถึงจะไปดูจำนวนตัวเลขอีกครั้ง แต่ ณ ตอนนี้ยังคงไม่มีการเสนอชื่อของอดีตนายกฯ  และรายชื่อผู้ต้องขังอื่นๆ ที่จะเข้าโครงการพักการลงโทษมาถึงตน