วันที่ 25 มกราคม 2567 เมื่อเวลา 11.45 น. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมกันแถลงข่าว
โดยนายกฯ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสให้การต้อนรับนายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและภริยา ระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยการเยือนครั้งนี้ เป็นการเยือนของประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีครั้งแรกในรอบ 22 ปี ทั้งนี้ประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ยาวนาน 162 ปี โดยเยอรมนีเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยในสหภาพยุโรป และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของเยอรมนีในอาเซียน ทั้งสองประเทศจึงเป็นพันธมิตรที่เกื้อกูลกัน วันนี้ไทยและเยอรมนีต่างเห็นพ้องต่อการกำหนดเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์
นายกฯ กล่าวว่า ตนได้หารือกับประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือไทย-เยอรมนี ในด้านความยั่งยืน การรับมือกับภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยเยอรมนีพร้อมให้การสนับสนุนไทยด้านเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็นร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2040 รวมถึงขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของเยอรมนีในไทย เพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ เยอรมนีจะส่งเสริมการทำการเกษตรแบบยั่งยืนที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไทยอย่างต่อเนื่องและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
นายกฯ กล่าวว่า ตนได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยและโอกาสใหม่ๆ สำหรับภาคเอกชนเยอรมนี หลังจากที่ไทยกับสหภาพยุโรปสามารถบรรลุการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีได้สำเร็จ ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายไว้ภายในปี 2568 และนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โครงการแลนด์บริดจ์และโครงการยกระดับการขนส่งระบบรางและโลจิสติกส์ของไทย การส่งเสริม Ease of Doing Business รวมทั้งการสร้างทรัพยากรมนุษย์ ด้านอาชีวศึกษาระหว่างกัน
นายกฯ กล่าวว่า ในโอกาสนี้ ภาคเอกชนเยอรมนีได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาประกอบการในไทยในด้านงานสินค้านานาชาติ และการรีไซเคิลและการผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะ ความต้องการของภาคเอกชนเยอรมนีในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย การส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและเยอรมันฃโดยปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเดินทางมาไทยประมาณ 7 แสนคน ทั้งนี้ชาวเยอรมันได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา 30 วัน ตนจึงได้ขอให้ฝ่ายเยอรมนีสนับสนุนไทย ให้สามารถบรรลุการเจรจากับสหภาพยุโรป เพื่อขอยกเว้นตรวจลงตราสำหรับการเดินทางเข้าเขตเชงเกนให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทยด้วย
นายกฯ กล่าวอีกว่า ในช่วงเย็นวันเดียวกันนี้ประธานาธิบดีเยอรมนี และภริยา มีกำหนดเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ส่วนวันที่ 26 ม.ค. จะเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำใหญ่เป็นอันดับต้นของโลกและโครงการเกษตรยั่งยืนที่เป็นความร่วมมือระหว่างเยอรมนีกับไทย รวมทั้งเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่เป็นที่นิยมของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเยอรมนี จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนี ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะในด้านยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน และความร่วมมือในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้ประเทศไทยกับเยอรมนีมีความร่วมมือในทุกมิติที่แน่นแฟ้นมากขึ้น โดยในห้วงเดือนมี.ค. ผมมีกำหนดที่จะเดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ เพื่อสานต่อและผลักดันความร่วมมือระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันต่อไป” นายกฯ กล่าว
ด้านประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กล่าวว่า ตนมีความตั้งใจที่จะมาเยือนไทยสักระยะแล้ว วันนี้ดีใจที่ได้มาเยือน ขอบคุณนายกฯ และประเทศไทย สำหรับคำเชิญและคำต้อนรับอย่างอบอุ่น ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น แต่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 160 ปีแล้ว ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้งซึ่งมีคนไทยออกมาใช้สิทธิ์ถึง 75% เป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตยในโอกาสนี้จึงขอกล่าวแสดงความยินดี กับการดำรงตำแหน่งนายกฯ และอวยพรให้สมัยของท่านเป็นสมัยที่ประสบความสำเร็จ และยินดีที่จะได้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศให้ก้าวต่อไปได้ และเป็นการร่วมมือพัฒนาภาคีเครือข่าย
ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กล่าวอีกว่า เยอรมันเป็นผู้ค้ายุโรปที่สำคัญที่สุดของไทย ซึ่งในปีที่ผ่านมามีมูลค่าการค้าถึง 14,000 ล้านยูโร ซึ่งไทยมีคนเยอรมันที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และแลกเปลี่ยน รวมถึงได้พูดคุยถึงทำเลที่ตั้งที่ดีของไทย ความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นของทั้งสองประเทศเป็นเพียงมิติหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ระดับประชาชนผ่านการเดินทางย้ายถิ่นฐาน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เติบโต ซึ่งมีคนเดินทางมาท่องเที่ยวและใช้เวลาอยู่หลายเดือน ชาวเยอรมันกว่า 35,000 คนตัดสินใจที่จะพำนักอยู่ที่ประเทศไทย เช่นเดียวกับคนไทย 60,000 คนที่อาศัยอยู่ในเยอรมนี
ประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวว่า ในวันที่ 26 ม.ค. มีกำหนดการเยี่ยมชมโครงการปลูกข้าวอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรรายย่อยในไทย นับเป็นหนึ่งในโครงการความร่วมมือที่ยังดำเนินการภายใต้แผนภูมิอากาศสากล ที่เยอรมันเป็นภาคีเครือข่าย ยินดีที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก International climate Change Club ที่จะเข้ามาร่วมปกป้องสภาพอากาศ ทั้ง 2 ประเทศยังมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนสู่อากาศสะอาด แล้วจะไปที่เขื่อนสิรินธร เพื่อดูเทคโนโลยี ซึ่งจะสนับสนุนอากาศสะอาดลงทุนโดยประเทศเยอรมนีและเยี่ยมชมโรงงาน Mercedes Benz ที่ใช้พลังงานสะอาด คาดว่าจะเติบโตสูงขึ้นในอนาคต ทั้งหมดนี้ทำให้เราเป็นพันธมิตรกันได้อย่างต่อเนื่อง เพราะตอนนี้เรายังเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการลงทุนในไทย โดยเฉพาะเงื่อนไขการประกันสินเชื่อ และเศรษฐกิจของประเทศไทยต่างได้รับการยอมรับในมุมมองของนักลงทุนเยอรมันมาตลอด เชื่อว่าการลงทุนในส่วนนี้จะเติบโตต่อไป
ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ กล่าวว่า ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย เราได้ให้การสนับสนุนในเรื่องของการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี เชื่อว่าทั้งสองประเทศจะบรรลุข้อตกลงในระยะเวลาอันใกล้ น่าจะโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการขยายต่อไปสำหรับสหภาพยุโรป มีโครงการชื่อ Global Gateway มีศักยภาพในการเข้ามาช่วยเหลือโครงการโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ โดยจะมีรายละเอียดความร่วมมือในไม่ช้า ทั้งนี้ทำเลทางที่ตั้งของไทยเป็นที่ดึงดูดของเยอรมัน และตลาดการค้าเป็นที่น่าสนใจ รวมถึงจุดยืนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เรามีความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ตนและนายกฯ ได้หารือถึงบทบาทสำคัญในภาคประชาสังคม ที่เราแลกเปลี่ยนทัศนะ นอกจากนี้ยังพูดถึงวิกฤตการณ์ความขัดแย้งภูมิภาคต่างๆในโลก และบทบาทต่างๆที่เราจะมีท่าทีต่อความขัดแย้งต่างๆได้
ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามว่าในกรณีที่บริษัทต้องการกระจายซัพพลายจีนมาจากประเทศจีน มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเวียดนามจะได้ผลประโยชน์จากตรงนี้มากที่สุด ไทยมีแนวทางอย่างไร ที่จะดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในประเทศไทย และอยากถามประธานาธิบดีเยอรมนีว่า เห็นศักยภาพในการลงทุนประเทศไทย ในฐานะที่เป็นตัวเลือกจากประเทศจีนอย่างไรบ้างในมุมมองของเยอรมัน นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจในเรื่องของตัวเลข แต่ไทยได้ประโยชน์จากการย้ายฐานนี้เช่นกัน ซึ่งมีโรงงานจำนวนหนึ่งในเวียดนาม ที่จะย้ายมาสู่ประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเทคโนโลยีต่างๆจากอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น Google หรือบริษัทรายใหญ่ที่ย้ายมาอยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ ในการหารือกับประธานาธิบดีเยอรมนีได้มีการพูดคุยถึงพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่จะดึงดูดให้บริษัท ใหญ่ๆมาลงทุนในประเทศไทย ขณะเดียวกันวิถีชีวิตของประเทศไทย ทำให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้ ชีวิตอยู่ในประเทศไทย เข้าใจถึงความสะดวก แม้กระทั่งคนที่พาครอบครัวเข้ามาพักอาศัย ระบบดูแลสุขภาพของเราอยู่ในระดับโลก จึงเป็นจุดน่าดึงดูด ที่นักธุรกิจท่านไหน อยากลองย้ายมาอยู่ จึงนำครอบครัวมาด้วย
ด้านประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวเสริมถึงโอกาสการลงทุนในไทยว่าเราจะต้องดูปัจจัยต่างๆ ซึ่งทางเยอรมนีเน้นนโยบาย การพึ่งพาฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญ หากตอบโจทย์ในส่วนนี้ได้และอีกสิ่งที่สำคัญ ในภาคธุรกิจ คือการลดความพึ่งพาฝ่ายเดียวที่เราจะต้องไปผูกพันกับประเทศจีน โดยขยายการลงทุนมายังประเทศอื่นๆ และย้ายมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นบทบาทบริษัท ในภูมิภาคนี้เพิ่มเติมทางเวียดนามและไทย ซึ่งเป็น ประเทศ ที่น่าดึงดูด สำหรับนักลงทุน ซึ่งจากการหารือกับทีมไทยมีข้อได้เปรียบ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และไทยยังมีความสนใจ ให้การสนับสนุนความร่วมมือทางการค้า บริษัทต่างๆที่มาจากสหภาพยุโรปและเยอรมนี โดยจะเห็นได้จากนโยบายและข้อบังคับต่างๆที่เอื้อประโยชน์ ในการทำการค้า ซึ่งสิ่งต่างๆที่ตนพูด มาในวันนี้ถือเป็นปัจจัย ที่จะทำให้ร่วมมือกันได้