ยกให้เป็นความเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์ ที่หลายชาติต้องจับจ้องมองอย่างไม่กะพริบตา
สำหรับ การทหารของกองทัพเยอรมนี เจ้าของฉายาประเทศ “อินทรีเหล็ก” ณ ชั่วโมงนี้
เมื่อปรากฏว่า ทางการเยอรมนี หรือรัฐบาลเบอร์ลิน ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ “ฟรีดริช แมร์ส” ได้ส่งกองทหารไปประจำที่ประเทศลิทัวเนีย เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวข้างต้น ก็ถือเป็นครั้งแรกของเยอรมนี นับตั้งแต่สิ้นสุดมหายุทธ์สงคราม คือ สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ที่เยอรมนี ส่งกองทหารไปประจำการยังต่างแดนเช่นนี้
ก็ต้องบอกว่า เยอรมนี พญาอินทรีเหล็กรายนี้ พยายามต่อสู้ผลักดันเกี่ยวกับการทหาร กองทัพของตนเอง อยู่เป็นระยะๆ ในการแก้ไขเพิ่มเติมในบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในข้อที่ว่าด้วย การห้ามมีกองทัพ ที่เหล่าชาติสัมพันธมิตร ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา และมหาอำนาจตะวันตกทั้งหลาย ในฐานะ “ผู้ชนะสงคราม” ที่มีชัยเหนือต่อ “เยอรมนี” ในสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเขียนบังคับให้ ด้วยความหวั่นเกรงว่า ไม่อยากให้เยอรมนีมีกองทัพเฉกเช่นทหารหาญแบบประเทศต่างๆ ทั่วไป แต่ให้มีเพียง “กองกำลังป้องกันตนเอง” เท่านั้น คล้ายกันกับที่ “ญี่ปุ่น” อีกหนึ่งชาติผู้พ่ายแพ้สงครามในสงครามโลกครั้งที่ 2 ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งถูกกำหนดให้มีเพียง “กองกำลังป้องกันตนเอง” ได้เท่านั้น
โดยการส่งกองทหารของเยอรมนีไปประจำการที่ประเทศลิทัวเนียข้างต้น ก็มิใช่ไปแบบ “ชั่วคราว” แต่เป็นการประจำการแบบ “ถาวร” กันเลยทีเดียว คือ ปักหลักอยู่ยาวในประเทศย่านทะเลบอลติกแห่งนั้น
แถมมิหนำซ้ำ จำนวนทหารที่ส่งไป ก็มิใช่หลักสิบ หลักร้อยนาย แต่ได้ดำเนินการจัดตั้งเป็น “กองพล (Brigade)” โดยจะมีกำลังพลหลายพันนาย ถูกส่งเข้าไปประจำการ
ตามรายงานข่าวก็ระบุว่า กองพลทหารหาญเยอรมนี ที่จะส่งไปประจำการที่ลิทัวเนีย ก็จะมีจำนวนประมาณ 5,000 นาย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์การรบต่างๆ อย่างครบครัน
แน่นอนว่า ในบรรดาอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านั้น ก็ต้องมี “รถถัง” หรือ “ยานรบหุ้มเกราะ” อันกระเดื่องนามอย่าง “ลีโอพาร์ด ทู (Leopard 2)” อยู่ในบัญชีรายชื่อเขี้ยวเล็บของกองพลเยอรมนีที่ประจำการในประเทศลิทัวเนียด้วย
โดยจำนวนทหารเยอรมนีทั้ง 5,000 นาย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จะถูกส่งมาประจำการอย่างครบสมบูรณ์แบบตามแผนการข้างต้นนั้น ก็จะมีขึ้นไม่เกินสิ้นปี 2027 (พ.ศ. 2570) ซึ่งเบื้องต้น ทางการเยอรมนี ก็ส่งทหารมาประเดิมในพื้นที่กันก่อนจำนวนราว 800 นายด้วยกัน
ในการจัดส่งกำลังพลเข้าไปประจำการดังกล่าว ทั้งทางการเยอรมนีและลิทัวเนีย ได้มีการจัดงานพิธีอย่างเอิกเกริก สร้างบรรยากาศให้ฮึกเหิมแก่เหล่าบรรดาทหารหาญของทั้งสองฟากฝั่ง คือ “เยอรมนี” กับ “ลิทัวเนีย” มิใช่น้อย
ใช่แต่เท่านั้น แม้กระทั่งบรรดาประชาชนชาวลิทัวเนีย ที่ทราบข่าว ก็ต่างพากันชื่นมื่นต่อการที่ประเทศของพวกเขาจะมีทหารจากกองทัพเยอรมนี จำนวนระดับกองพล เข้ามาประจำการอย่างถาวร
เหล่าผู้สันทัดกรณีด้านประวัติศาสตร์ประเทศลิทัวเนีย กล่าวว่า บรรยากาศของปวงประชาชาวลิทัวเนียข้างต้น ถือว่าแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไฟสงครามได้โหมลามลุกไหม้มายังประเทศลิทัวเนียด้วย ซึ่งในครั้งนั้น กองทัพนาซีเยอรมัน กรีธาพลเข้ามาในฐานะผู้รุกรานลิทัวเนีย จนชาวลิทัวเนียต่างพากันเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า เช่นเดียวกับประเทศทั้งหลายในทวีปยุโรป ที่ถูกกองทัพนาซีเยอรมันบุกเข้าไปรุกราน
ทว่า การมา หรือการปรากฏโฉมของกองทัพเยอรมนี ณ พ.ศ.นี้ มาเพื่อร่วมปกป้องคุ้มครองอธิปไตยของลิทัวเนีย ในฐานะที่เป็นชาติสมาชิก “องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ” หรือ “นาโต” ด้วยกัน
โดยพิธีเฉลิมฉลอง ก็จัดให้มีขึ้นที่ “กรุงวิลนีอุส” เมืองหลวงของประเทศลิทัวเนีย เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทางการลิทัวเนีย ได้ใช้ “จัตุรัสอาสนวิหารวิลนีอุส” เป็นสถานที่จัดงาน โดยเหล่าบรรดาผู้นำทั้งของเยอรมนี และลิทัวเนีย ตบเท้าเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็นนายฟรีดริช แมร์ซ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อันเป็นแขกผู้มาเยือน และประธานาธิบดีกีตานัส นูเซดา ผู้นำลิทัวเนีย ในฐานะเจ้าบ้านผู้ให้การต้อนรับ
สาเหตุที่ทำให้ลิทัวเนีย ต้องเปิดไฟเขียว เปิดพื้นที่ ให้กองทัพเยอรมนี เข้าไปประจำการแบบถาวร ในจำนวนกำลังพลระดับกองพลเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องความหวาดผวาภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากรัสเซีย ประเทศที่ลิทัวเนีย เคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย ก่อนการล่มสลายของอดีตสหภาพดังกล่าว เมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 หรือก่อนกำแพงเบอร์ลินทลายลง
ทั้งนี้ ภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากรัสเซียข้างต้น ก็ส่งสัญญาณท่าทีอันน่าสะพรึงในเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่รัสเซีย กรีธาทัพยกข้ามพรมแดนเข้ามารุกรานยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) ที่ ณ ปัจจุบันไฟสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยังคงปะทุคุโชนกันอยู่เลย ซึ่งทางลิทัวเนีย ก็หวั่นเกรงว่า รัสเซีย จะยกทัพกรีธาบุกจู่โจมเข้ามารุกรานเข้าให้บ้าง เหมือนกับที่ทำกับยูเครน
โดยเมื่อกล่าวถึงเรื่องพรมแดน ก็ต้องบอกว่า ลิทัวเนีย มีพรมแดนประชิดติดกับรัสเซียในพื้นที่เมืองคาลินินกราด เมืองที่ได้ชื่อว่า เป็นไข่แดง ระหว่างลิทัวเนียกับโปแลนด์ ซึ่งแยกต่างหากจากรัสเซียแผ่นดินใหญ่ และด้วยความที่คาลินินกราดแห่งนี้ เป็นเมืองไข่แดง ที่มีลิทัวเนียและโปแลนด์ขนาบสองข้าง ทางการรัสเซีย ก็มีกองทัพประจำการอยู่ในคาลินินกราดด้วยเหมือนกัน นอกจากนี้ ลิทัวเนียก็มีพรมแดนติดกับเบลารุส ประเทศพันธมิตรสำคัญของรัสเซีย ซึ่งเบลารุสก็พร้อมที่จะเปิดเส้นทางให้เป็นทางผ่าน กรีธาทัพยกเข้ามาจู่โจมลิทัวเนีย เหมือนกับที่เคยเปิดเส้นทางเดินทัพของรัสเซีย ในการทำสงครามรุกรานยูเครนตั้งแต่ช่วงต้นของสงครามแล้ว
ขณะเดียวกัน ทางด้านฟากฝั่งของเยอรมนี ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแมร์ซ ก็พยายามแสดงความเป็นผู้นำของเยอรมนีในกลุ่มชาติยุโรป หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ส่งสัญญาณลดบทบาทความเป็นผู้นำในภูมิภาคยุโรปแห่งนี้ ก็ถือโอกาสเดินหน้าสานต่อในการแผนการส่งทหารมาประจำการในลิทัวเนีย ซึ่งเมื่อกล่าวถึงแผนการส่งทหารแล้ว ก็เริ่มมีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังจากที่การก่อสร้างฐานทัพ ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2024 (พ.ศ. 2567)
นอกจากส่งทหารไปประจำยังต่างแดนแล้ว ทางการเยอรมนี ก็ยังมีแผนการที่จะเกณฑ์ทหารอีกต่างหากด้วย หากอาสาสมัครที่จะมาช่วยงานด้านต่างๆ ในกองทัพมีจำนวนไม่เพียงพอ โดยอาจจะเริ่มเกณฑ์ทหารตั้งแต่ปีหน้าที่จะถึงนี้เป็นต้นไป เพื่อเตรียมตัวรับมือกับภัยคุกคามจากรัสเซียด้วยเช่นกัน