พณ.เผยปี 66 ต่างชาติลงทุนในไทย 127,532 ล้านบาท ญี่ปุ่นลงทุนอันดับหนึ่ง 32,148 ล้านบาท
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยว่า ในปี 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 รวมทั้งสิ้น 667 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 228 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 439 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 127,532 ล้านบาท จ้างงานคนไทยรวม 6,845 คน
ทั้งนี้ ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น จำนวน 137 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.5 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในปี 2566 มีเงินลงทุน 32,148 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการที่เป็นคู่สัญญากับภาคเอกชน (บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้ง ทดสอบระบบ ซ่อมแซมและบำรุงรักษาท่อส่งก๊าซสำหรับโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ) ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลการใช้ก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่างๆ ของธุรกิจ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนยานพาหนะ/ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์) ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อการค้าส่งในประเทศ
2.สิงคโปร์ จำนวน 102 ราย คิดเป็นร้อยละ 15.3 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในปี 2566 มีเงินลงทุน 25,405 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจนายหน้าประกันชีวิต / ประกันวินาศภัย ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจบริการพัฒนาแพลตฟอร์ม
3.สหรัฐอเมริกา จำนวน 101 ราย คิดเป็นร้อยละ 15.1 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในปี 2566 มีเงินลงทุน 4,291 ล้านบาทในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม / ยารักษาโรค / อุปกรณ์กีฬา) ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนา ติดตั้ง วางระบบเกี่ยวกับโปรแกรมซอฟต์แวร์ (Software) และแอปพลิเคชัน (Application) ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการงานด้านต่างๆ เช่น ด้านการวางแผนทางธุรกิจ ด้านการประสานงานทางธุรกิจ ด้านการจัดการองค์กร เป็นต้น
4.จีน จำนวน 59 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.9 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในปี 2566 มีเงินลงทุน 16,059 ล้านบาท ในธุรกิจอาทิ ธุรกิจบริการก่อสร้าง รวมทั้งติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจบริการบำรุงรักษาหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมบนชายฝั่ง ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม / ชิ้นส่วนโลหะ และชิ้นส่วนพลาสติก / ชุดแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า) ธุรกิจกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มกลางสำหรับซื้อ-ขายสินค้า
5.ฮ่องกง จำนวน 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.1 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในปี 2566 มีเงินลงทุน 17,325 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการบำรุงรักษา และซ่อมแซมรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์/ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ / เม็ดพลาสติกรีไซเคิล) ธุรกิจบริการสินเชื่อแก่ผู้จัดจำหน่ายสินค้าที่เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ธุรกิจบริการจองบัตรโดยสารสายการบินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
สำหรับการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้นมีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทยเช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการขุดเจาะและการบำรุงรักษาหลุมปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการบำรุงรักษาและดูแลชิ้นส่วน เครื่องมือ อุปกรณ์ สำหรับงานซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมแอปพลิเคชันเพื่อความปลอดภัยและการจัดการข้อมูลส่วนตัว เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 84 ราย (14%) (ปี 2566 อนุญาต 667 ราย / ปี 2565 อนุญาต 583 ราย) แม้มูลค่าการลงทุนจะลดลง 1,242 ล้านบาท (1%) (ปี 2566 ลงทุน 127,532 ล้านบาท / ปี 2565 ลงทุน 128,774 ล้านบาท) แต่มีการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 1,592 ราย คิดเป็นร้อยละ 30 (ปี 2566 จ้างงาน 6,845 คน / ปี 2565 จ้างงาน 5,253 คน)
ขณะที่การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ปี 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 134 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 13% มีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 38,613 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 44 ราย ลงทุน 7,053 ล้านบาท จีน 30 ราย ลงทุน 4,128 ล้านบาท ฮ่องกง 10 ราย ลงทุน 14,573 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 50 ราย ลงทุน 12,859 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจบริการจัดหา ติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา และฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่างๆ ที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม ด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์/ ชิ้นส่วนโลหะ และชิ้นส่วนพลาสติก/ ชิ้นส่วนยานพาหนะ) ธุรกิจบริการปรับปรุง ซ่อมแซม REFRIGERATION AIR DRYER AIR FILTER
ทั้งนี้เฉพาะเดือนธันวาคม 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 55 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 19 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 36 ราย เงินลงทุน 29,244 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มีการจ้างงานคนไทย 759 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการทดสอบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยการใช้งานเครื่องซีทีสแกน องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีของเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับการฉีดสารทึบรังสีสำหรับเครื่องตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยา องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบเทเลมาตกส์ (Telematics) และองค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพ รับประกัน และออกใบรับรองด้านคุณภาพรถยนต์ เป็นต้น
โดยธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในเดือนธันวาคม 2566 ได้แก่ ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยประเภทการจัดการให้มีการประกันภัยโดยตรง ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แผ่นยิปซั่ม / อุปกรณ์สำหรับสร้างการเคลื่อนที่ด้วยไฟฟ้า / ชิ้นส่วนของรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร) ธุรกิจบริการคลาวด์ (Cloud Services) โดยเป็นการให้บริการในด้านซอฟต์แวร์ (SOFTWARE-AS-A-SERVICE) เพื่อจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ธุรกิจบริการตรวจสอบคุณภาพสินค้าประเภทชิ้นส่วนรถยนต์
#พาณิชย์ #ลงทุน #ญี่ปุ่น