วันที่ 22 ม.ค.67 ที่จ.ระนอง นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเลหาดประพาส ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง พร้อมพูดคุยกับผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาและร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล โดยมี นางกรกช มหายศปัญญา โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดระนอง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและประชาชน ร่วมลงพื้นที่

นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า ในวันนี้เดินทางมาตรวจสอบ ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเลหาดประพาส ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ บ้านเรือนประชาชน และพื้นที่ชายหาดที่ประชาชนหรือชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยปัจจุบันชายฝั่งถูกกัดเซาะเป็นบริเวณกว้าง และลึกเข้ามาในฝั่งเป็นระยะกว่า 3 เมตร จนประชิดกับถนนเลียบชายฝั่งทะเลเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร จนสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างถนน ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรหลักของประชาชนในพื้นที่ มาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งทะเล เพื่อป้องกันมิให้เกิดการสูญเสียดินแดนและความเสียหายต่อทรัพย์สินของราชการ และบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่


นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า จากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในพื้นที่ดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นระบบ ในระบบกลุ่มหาดหลักทะเล อันดามันตอนบน (T7) ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ถึง พื้นที่อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต  มีความยาวชายฝั่งรวมทั้งสิ้น 452.02 กิโลเมตร จากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งจังหวัดระนอง พ.ศ.2562-2566 พบว่ามีพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนก่อนพื้นที่ศึกษา 2 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดทะเลนอก 2.พื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดประพาส  สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดประพาส ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมระยะทาง 1,130 เมตร ซึ่งกรมฯ ได้รับคำขอโครงการจากท้องถิ่น ในการคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการตามระดับความรุนแรงของการกัดเซาะ เพื่อป้องกันพื้นที่ชุมชนเส้นทางคมนาคมสายหลักที่ใช้ในการเดินทางสัญจรเข้าออกหมู่บ้าน และสถานีวิจัยฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการกัดเซาะ


ปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในพื้นที่ ครั้งที่ 1 เมื่อ 11 มกราคม 2567 โดยมีการประชาสัมพันธ์แนะนำโครงการชี้แจงขอบเขต และแนวทางการศึกษาออกแบบการประเมินสิ่งแวดล้อม พร้อมเสนอรูปแบบ ข้อดี ข้อด้อย ทางเลือกป้องกันชายฝั่งเบื้องต้น อย่างน้อย 7 ทางเลือกเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ เข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน