สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…

ถึงวันนี้นโยบายเรือธงของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตหรือโครงการแลนด์บริดจ์ทำท่าจะล่มตั้งแต่เรือยังไม่ทันออกจากท่า …*…

แม้จะมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาไส้ในของนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต หลายรอบจน “ไม่ตรงปก”ผิดจากที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดความมั่นใจได้ว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ในเดือนพฤษภาคมนี้ …*…

เพราะล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่ได้มีคำตอบที่ชัดเจนว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการนี้ของรัฐบาลสามารถทำได้เลยหรือไม่ เพียงแค่เสนอความเห็นว่า “ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เช่น ต้องจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง แก้ไขวิกฤตของประเทศ หรือต้องเป็นไปตาม มาตรา 53 มาตรา 57 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ หากสามารถตอบเงื่อนทั้งหมดได้ก็สามารถออกเป็น พ.ร.บ.ได้" …*…

 จากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำให้ทุกอย่างหมุนวนกลับมาที่ประเด็นเดิมคือเศรษฐกิจไทยอยู่ในขั้นวิกฤติหนักจนต้องกู้เงินถึง 5 แสนล้านบาทมาเยียวยาหรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีมุมมองในเรื่องนี้ต่างจากหน่วยงานที่เกี่ยวของอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยมาตลอด …*…

นำมาซึ่งกระแสข่าวแพร่สะพัดไปทั่วว่า รัฐบาลอาจล้มแผนออกกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยหันมาใช้วิธีดึงเงินจากงบประมาณแผ่นดินใน 3 ปีข้างหน้า ปีละ 1 แสนล้านบาทมาใช้แทน หากกระแสข่าวนี้เป็นจริง นั่นหมายความว่ารัฐบาลได้ลดขนาดการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ให้เล็กลงจาก 5 แสนล้านบาท หรือ 3 แสนล้านบาท ที่ไม่น่าจะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตแบบตูมตามตามที่รัฐบาลได้เคยโฆษณาไว้ …*…

สรุปแล้วจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ การแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต วางไว้เป็นนโยบายเรือธง หวังสร้างเป็นผลงานชิ้นเอก จะไม่เป็นไปตามเป้าที่คาดหวังไว้ …*…

 ถัดมาอีกหนึ่งนโยบายเรือธง ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือโครงการแลนด์บริดจ์ที่นายเศรษฐานำไปเดินสายโรดโชว์ในหลายๆ ประเทศ เพื่อหวังดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาช่วยสร้างงานสร้างเงินในบ้านเรานั้น ขณะนี้ก็ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน โดยต่างฝ่ายต่างอ้างรายงานผลการศึกษาคนละฉบับ …*…

และเริ่มบานปลายกลายเป็นปัญหาการเมือง เมื่อ 4 ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลพร้อมใจลาออกจากคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (โครงการแลนบริดจ์)  โดยนายจุลพงษ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลให้เหตุผลว่า รายงานที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำขัดแย้งกับรายงานการศึกษาของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ระบุว่าโครงการแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ขณะที่การศึกษาของสนข.ชี้ว่าจะได้ผลตอบแทนร้อยละ 17 ซึ่งการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯให้น้ำหนักไปที่ผลการศึกษาของสนข.เป็นหลัก ทำให้ส.ส.พรรคก้าวไกลทักท้วง แต่เนื่องจากมีเสียงน้อยเพียง  4 คน ประกอบด้วยตนเอง น.ส.ศิริกัญญา  ตันสกุล นายประเสริฐพงษ์สุวัฒน์ นายศุภณัฐ  มีนไชยนันท์ และนักวิชาการอีก 1 คนคือนายสมพงษ์ ศริโสภณศิลป์ นักวิชาการ จึงขอถอนตัวและลาออกจากกรรมาธิการโดยมีผลทันทีในวันนี้ …*…

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขับเคลื่อนของ ส.ส.ก้าวไกลในครั้งนี้ ทำให้สปอตไลท์หันมาฉายจับโครงการแลนด์บริดจ์ ที่หากรัฐบาลไม่สามารถให้คำตอบที่สมเหตุสมผลได้ว่าโครงการนี้มีความคุ้มทุนอย่างไร ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าผ่านทางช่องแคบมะละกาได้จริงไหม ก็มีโอกาสที่โครงการนี้จะแป้ก กลายเป็นอีกหนึ่งเรือธงที่ล่มตั้งแต่ยังไม่ทันออกจากท่า …*…

ที่มา:เจ้าพระยา (18/1/67)