วันที่ 17 ม.ค.2567 เวลา 09.00 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ในฐานะสส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้สวมเสื้อมลายู นั่งบัลลังก์ โดยเป็นหนึ่งในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการเคารพในอัตลักษณ์ของทุกชาติพันธ์ุตามสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ขณะที่นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ขอหารือต่อที่ประชุมสภาฯ ไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. กรณีมีความย้อนแย้งในการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ปาตานี รัฐบาลกำลังสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน แต่กลับมีการบังคับใช้กฎหมาย การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทำต่อนักกิจกรรม โดยมีหมายเรียก จากเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อกลุ่มที่ทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และแสดงออกสิทธิพลเมืองการเมือง ยกตัวอย่างนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี เช่นนายมูฮัมหมัด อลาดี เด็งนิ ซึ่งจัดงานแต่ชุดมลายูในวันฮารีรายอ แต่กลับถูกดำเนินคดีอั้งยี่ ซ่องโจร ยุยงปลุกปั่น จากกิจกรรมเมื่อปี 2565 ถือเป็นปิดกั้นการแสดงออกสิทธิเสรีภาพ
“ผมเป็นห่วงว่าการใช้กฎหมายปิดปากกำลังทำลายบรรยากาศการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงฝากไปถึงนายกรัฐมนตรี ทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมด้วย” นายกัณวีร์ กล่าว
ขณะที่นายซาฮารี เจ๊ะหลง ทำเพจพ่อบ้านใจกล้า ระดมเงินช่วยเหลือครอบครัวของผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งเข้าไม่ถึงการเยียวยาของรัฐ แต่กลับถูกข้อหาเอาเงินมาใช้เอง ซึ่งการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่ใช่อาชญากรรม และนักมนุษยธรรมไม่ใช่อาชญากร
ส่วนนายอาเต็ฟ โซะโก และกลุ่มนักศึกษาทำกิจกรรมเพื่อให้มีพื้นที่สันติภาพให้มีการแสดงความคิดเห็นเรื่องทำประชามติจำลอง ถือเป็นการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน โดยขณะนี้มีการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน กรณีเจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ที่ไม่ยุติธรรมนี้ด้วย
"การบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้ ยังเป็นการตบหน้า คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เราใช้สภาฯในการแก้ปัญหา แต่ใช้กฎหมายไปจัดการกับประชาชน" นายอาเต็ฟ กล่าว