สนค.เสนอมุมมองการศึกษาไทย เพื่อตอบโจทย์การค้าและการลงทุน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า จากการค้าและการลงทุนในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้แรงงานจำเป็นต้องอาศัยทักษะและกระบวนการคิดที่ตอบสนองต่อตลาดแรงงานในปัจจุบัน ซึ่งในส่วนของภาคการค้าและการลงทุน มีเสียงสะท้อนที่เรียกร้องให้มีการปรับปรุงระบบการศึกษา เพื่อให้ประเทศสามารถผลิตแรงงานที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการแต่ละภาคส่วนได้อย่างเต็มที่ ขณะที่บางส่วนมองว่าแรงงานของไทยยังมีจำนวนที่ไม่เพียงพอในบางอุตสาหกรรม ผลสำรวจความต้องการแรงงานในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ปี 2565 พบว่า มีภาวะขาดแคลนแรงงานฝีมือโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมกันมากถึง 12,000 ตำแหน่ง แม้ว่าในรายงานการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยของ IMD ปี 2566 จะแสดงให้เห็นถึงคะแนนในด้านอัตราการเติบโตของกำลังแรงงานในระยะยาวที่ดีขึ้น แต่มีการระบุความเสี่ยงว่าไทยอาจประสบปัญหาแรงงานทักษะที่ไม่เพียงพอในภาคบริการ ในขณะที่คู่แข่งด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศต่างเร่งการพัฒนาด้านแรงงานทั้งในแง่ของจำนวนและคุณภาพ ซึ่งในอนาคตอาจทำให้การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของไทยทำได้ยากขึ้น และเป็นความท้าทายที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้เมื่อย้อนดูคุณภาพการศึกษาของไทยซึ่งเป็นต้นทางการผลิตแรงงาน จากผลการประเมินสมรรถนะของนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ในแต่ละประเทศซึ่งจัดทำโดย OECD ประจำปี 2565 พบว่า คะแนนของเด็กไทยต่ำลงในทุกหมวด ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน และหากเทียบเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ระดับคะแนนของไทยยังต่ำกว่าสิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ทั้งยังมีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวิเคราะห์ปัญหาของระบบการศึกษาไทย จะพบคุณลักษณะสำคัญคือ การผลิตบุคลากรที่ไม่ตรง หรือไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เกิดขึ้นจากค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับการเข้าศึกษาในสายสามัญมากกว่าสายอาชีวะ ประกอบกับภาพลักษณ์ในเชิงลบที่มีต่อผู้เรียนในสายอาชีวะ ทำให้ความต้องการศึกษาในสายอาชีวะลดลง ส่งผลให้ไทยขาดแคลนแรงงานในสายอาชีวะจำนวนมาก ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทย รวมถึงมีความเสี่ยงที่อาจขาดแคลนแรงงานบางสาขาในอนาคต ตลอดจนขาดการยกระดับบุคลากรการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีในการสอนให้เพิ่มสูงขึ้น โดยผลการศึกษาของสมาคมนานาชาติที่ทำหน้าที่ประเมินผลด้านการศึกษา ซึ่งเป็นโครงการศึกษาภายใต้การดำเนินงานของสหประชาชาติ หรือ ICILS พบว่า สัดส่วนของครูที่มีการใช้อุปกรณ์ ICT ในห้องเรียนของไทย อยู่ที่ร้อยละ 51 ของจำนวนครูทั้งประเทศ ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวของไทยอยู่ต่ำกว่าเกาหลีใต้ (ร้อยละ 76) ฮ่องกง (ร้อยละ 79) และออสเตรเลีย (ร้อยละ 90) 

โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาในระบบการศึกษาไทย ส่งผลต่อการค้าและการลงทุนที่เกิดขึ้นมีดังนี้ (1) ขาดแรงงานทักษะใหม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2565 พบว่า ไทยมีผู้ทำงานจริงเพียง 39.6 ล้านคน จากประชากร 66.1 ล้านคน ขณะที่ผลสำรวจด้านแรงงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 พบว่า ไทยยังขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมในทุกระดับการศึกษา โดยผลสำรวจด้านแรงงานจากผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน พบว่า มีความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม จำนวนทั้งสิ้น 168,992 คน แบ่งออกเป็นความต้องการแรงงานในระดับปริญญาตรีขึ้นไป 29,037 คน ระดับ ปวช.-ปวส. 38,079 คน ระดับ ป.6-ม.6 96,786 คน และอื่น ๆ อีก 5,090 คน สะท้อนว่าระบบการศึกษาของไทยยังพัฒนาแรงงานได้น้อยกว่าความต้องการของตลาดอยู่มากพอสมควร (2) ผู้ประกอบการต่างชาติเผชิญระดับค่าแรงสูงในสายงานที่ขาดแคลน มีการแย่งตัวแรงงานด้วยการแข่งขันด้านค่าแรง ทำให้ต้นทุนการประกอบการสูงขึ้น และอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีจำนวนแรงงานในสายงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า (3) แรงงานที่มีลักษณะการทำงานซ้ำๆ อาจถูกแทนที่ด้วยระบบการทำงานอัตโนมัติ และอาจส่งผลให้ตัวเลขการจ้างงานรวมของประเทศลดลง และ (4) การศึกษาที่ขาดคุณภาพส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะมีผลิตภาพต่ำ และมีทักษะที่ไม่หลากหลาย ทางเลือกในการประกอบอาชีพจึงมีน้อย เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

นายพูนพงษ์ฯ กล่าวต่อว่า การศึกษานับเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว ทั้งยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาพอสมควร ไม่สามารถสร้างหรือปรับเปลี่ยนได้ในเวลาอันสั้น ควรต้องเร่งพัฒนาการศึกษาตั้งแต่วันนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศ ผ่านแนวทางในการพัฒนาดังต่อไปนี้ (1) สำรวจความต้องการของอุตสาหกรรม ว่ามีความต้องการในแต่ละสาขามากน้อยแตกต่างกันอย่างไร อุตสาหกรรมใดที่จะเป็นอนาคต และคำนวณระดับความต้องการเพื่อนำไปออกแบบหลักสูตรส่งเสริมผู้เรียนต่อไป (2) เพิ่มกิจกรรมการเรียนรู้และปฏิบัติการนอกห้องเรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจภาพรวมของการทำงาน และเลือกเรียนทักษะให้ตรงกับวัตถุประสงค์ในการพัฒนาตนเองต่อไปได้อย่างถูกต้อง (3) พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้พร้อมถ่ายทอดทักษะใหม่ โดยผู้ถ่ายทอดต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง และต้องเข้าใจการประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจ จึงจะพัฒนาผู้เรียนได้อย่างถูกต้องและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ 

(4) เพิ่มระดับการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพัฒนา เพื่อให้นโยบายและการปฏิบัติสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน (5) สถาบันการศึกษาทั้งระดับมหาวิทยาลัยและอาชีวะ  ต้องมีหลักสูตรการสอนเพื่อสร้างทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล หรือ Smart Labor จึงจะสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัจจุบันเข้ากับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างผลิตภาพและทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้โดยไม่สูญเสียคุณค่าความสำคัญ และ (6) ปรับทัศนคติและคุณภาพของการศึกษาในสายอาชีพ แม้ที่ผ่านมาไทยจะสามารถยกระดับของอาชีวศึกษาจนประสบความสำเร็จแล้วผ่านความสำเร็จในโครงการ EEC Type A Model ซึ่งส่งเสริมให้แรงงานสายอาชีวะจากสถาบันการศึกษา สามารถพัฒนาตนเองจนกลายเป็นแรงงานคุณภาพที่มีระดับรายได้สูง แต่มุมมองที่มีต่อสถาบันอาชีวศึกษา กลับพบว่าสังคมยังมีทัศนคติในเชิงลบ ส่งผลให้ผู้ปกครองหรือผู้เรียนไม่ให้ความสนใจเข้าศึกษาในสายอาชีพ ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงภาพลักษณ์อย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างทัศนคติและคุณภาพที่ดีในการศึกษาสายอาชีวะ เพิ่มจำนวนผู้เรียนเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมในอนาคต