บุรีรัมย์ Kick Off ออกบริการ “ตลาดนัด แก้หนี้” จังหวัดบุรีรัมย์ ให้ลูกหนี้-เจ้าหนี้ และ สถาบันการเงิน ร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน ทั้งจังหวัดลูกหนี้ลงทะเบียน 2,694 ราย เจ้าหนี้ 1,570 ราย ยอดหนี้รวม 162,618,349 บาท

              วันนี้ (14 ม.ค.67) เวลา 10.00 น. ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick Off "ตลาดนัดแก้หนี้" จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ลูกหนี้ เจ้าหนี้ และสถาบันการเงิน ได้พูดคุย เจรจาการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย

              โดยมี พล.ต.ต.รุทธพล เนาวรัตน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ ปลัดจังหวัดบุรีรัมย์ หัวหน้าส่วนราชการ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วม

              ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีการเปิดให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ลงทะเบียนเพื่อขอรับการช่วยเหลือ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 13 มกราคม 2567 จังหวัดบุรีรัมย์ มีลูกหนี้ลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 2,694 ราย เจ้าหนี้ 1,570 ราย ยอดหนี้รวมสูงถึง 162,618,349 บาท ขณะที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ มีลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งสิ้น 400 ราย เจ้าหนี้ 197 ราย ยอดหนี้รวม 23,731,231 บาท ซึ่งในจำนวนนี้สามารถไกล่เกลี่ยยุติเรื่องสำเร็จแล้ว 37 ราย ยอดหนี้รวม 2,195,141 บาท

              และในวันนี้ที่มีการ Kick off ตลาดนัดแก้หนี้ ก็ได้มีการเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่เจรจาสำเร็จมาร่วมกัน ส่งมอบโฉนดที่ดินที่ใช้เป็นหลักประกันเงินกู้คืนให้กับลูกหนี้ และส่งมอบสัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553 ที่เจ้าหนี้มีการตกลงลดยอดหนี้ให้ลูกหนี้ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ตลอดจน คณะหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน

              จากนั้นจึงเป็นการเปิดเวทีให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอมหนี้ในส่วนที่เหลือ เพื่อตกลงกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ คอยเป็นผู้อำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษา คำแนะนำ ในการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติ และระเบียบกฎหมาย รวมถึงสร้างการเข้าถึงการช่วยเหลือของสถาบันการเงินต่าง ๆ เช่น สินเชื่อ ธ.ก.ส. กับ โครงการสินเชื่อเพื่อชำระหนี้นอกระบบ สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน เพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ ธนาคารออมสิน กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน

              ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือนอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ใน สัปดาห์ที่สองของเดือนต่อไป