"นมกล่อง" จ่อขึ้น 50 สตางค์ หลังมิลค์บอร์ดไฟเขียวเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบ
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) มีมติอนุมัติให้ปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นอีก กิโลกรัม (กก.) ละ 2.50 บาท เป็นกก.ละ 22.75 บาท จากเดิม กก.ละ 20.50 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมนั้น กระทรวงพาณิชย์ จะรับมติมิลค์บอร์ดมาดำเนินการ โดยจะพิจารณาราคาผลิตภัณฑ์นมพาณิชย์ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับต้นทุนของน้ำนมดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ตามขั้นตอน ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม สามารถยื่นเรื่องขอปรับขึ้นราคาจำหน่ายมายังกรมฯ ได้ โดยกรมฯ จะใช้เวลาพิจารณาภายใน 15 วัน หลังจากที่ผู้ประกอบการยื่นขอปรับราคาเข้ามา แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายใดยื่นเรื่องขอปรับราคาเข้ามา
"การปรับขึ้นราคานมจะไม่เท่ากัน แตกต่างตามสัดส่วนของการใช้น้ำนมดิบของแต่ละผลิตภัณฑ์ของแต่ละแบรนด์ ทั้งนม UHT นมพาสเจอไรซ์ และนมสเตอริไรซ์ โดยนมรสจืด จะปรับขึ้นราคามากที่สุด เพราะใช้น้ำนมดิบ 100% คาดว่าการปรับราคาน้ำนมดิบครั้งนี้ อาจทำให้ต้องปรับขึ้นราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมเฉลี่ย 40-50 สตางค์/กล่อง สำหรับขนาดมาตรฐาน บรรจุ 225 มิลิลิตร" ร.ต.จักรากล่าว
ส่วนกรณีการปรับขึ้นราคาไข่ไก่ และเนื้อหมูนั้น กรมฯ ได้รับข้อสั่งการของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ที่ให้กรมฯ ดูโครงสร้างต้นทุนทั้งระบบมาดำเนินการ โดยจะเร่งประสานกับผู้เลี้ยง เพื่อเข้าไปช่วยดูแลเรื่องต้นทุนการผลิต และรักษาสมดุลราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์
รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ยังกล่าวถึงผลกระทบต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตสินค้า จากกรณีกองทัพฮูติโจมตีเรือขนส่งสินค้าเส้นทางทะเลแดงว่า จากการหารือร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และตัวแทนสายการเดินเรือ พบว่า เหตุการณ์ดังกล่าว จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้น ตามอัตราค่าระวางเรือที่แพงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบปุ๋ยเคมี และเหล็ก แต่ยังไม่ทำให้ราคาจำหน่ายปรับเพิ่มขึ้น โดยพบว่าสินค้าเหล็ก ยังมีแนวโน้มความต้องการใช้ในตลาดโลกในอัตราที่ต่ำ เนื่องจากจีนซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ ประสบปัญหาวิกฤติด้านอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมก่อสร้างชะลอตัว และทำให้ปริมาณการผลิตสูงกว่าความต้องการใช้ ดังนั้นจึงยังไม่ส่งผลให้ราคาเหล็กในประเทศปรับเพิ่มขึ้น ส่วนปุ๋ยเคมี ก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อราคาจำหน่ายภายในประเทศเช่นกัน เนื่องจากปุ๋ยในตลาดโลก มีแนวโน้มราคาทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่สถานการณ์การใช้ยังทรงตัว รวมทั้งยังมีปัจจัยบวกจากราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
โดยขณะนี้ การนำเข้าปุ๋ยและเหล็กยังไม่มีผลกระทบด้านราคา แต่เริ่มมีผลกระทบทางด้านต้นทุนการนำเข้าแล้ว จากค่าระวางที่ปรับขึ้น โดยหลังจากนี้ จะต้องจับตาสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิดต่อไป