"พาณิชย์" เปิดผลสำรวจเดือนก.พ.ประชาชนพึงพอใจ ผลงานด้านการลดค่าครองชีพสูงสุด 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับความพึงพอใจต่อนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมี 15 เป้าหมาย คือ “3 ซ่อม เพื่อช่วยลดช่องว่าง 8 สร้าง เพื่อต่อเติม และ 4 เสริม เพื่อยั่งยืน” ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งให้ความสำคัญกับการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” โดยมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก อำนวยความสะดวกทางการค้า ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ การสำรวจได้จัดกลุ่มนโยบายและการดำเนินงานออกเป็น 10 ด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งทุกนโยบายได้รับความพึงพอใจค่อนข้างมาก โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ทั้งนี้ภาพรวมผลงานของกระทรวงพาณิชย์ ที่ประชาชนมีความพึงพอใจปานกลาง – มาก 5 อันดับแรกคือ นโยบายด้านการลดค่าครองชีพประชาชน (ร้อยละ 83.57 ของผู้ตอบทั้งหมดที่ทราบนโยบาย) ตามด้วยด้านการดูแลราคา ปริมาณสินค้าเกษตร และการตลาดแบบครบวงจร (ร้อยละ 81.20) ด้านการปรับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจการค้า และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ 80.61) ด้านการผลักดันและสร้างแต้มต่อด้วยข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA (ร้อยละ 80.30) และด้านการบูรณาการการทำงานของพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการค้า (ร้อยละ 79.95) 

โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า นโยบายที่ประชาชนมีความพึงพอใจสูงสุด 2 อันดับแรก จะเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว และเห็นผลเป็นรูปธรรมในระยะเวลาที่รวดเร็ว อาทิ การลดค่าครองชีพ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับผู้ประกอบการจัดกิจกรรมจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดอย่างต่อเนื่อง และมาตรการดูแลเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร เช่น สินค้าข้าว ที่มีมาตรการรองรับปีการผลิต 2566/2567 เพื่อช่วยให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาเหมาะสม ขณะที่นโยบายอื่น ๆ ที่ได้รับความพึงพอใจรองลงมา เป็นนโยบายที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนานมากกว่า อาทิ การผลักดันข้อตกลงการค้าเสรี FTA หรือเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นสนับสนุนประชาชนเฉพาะกลุ่ม อาทิ การบูรณาการ การทำงานของพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ ที่มุ่งส่งเสริมเกษตรกร และผู้ประกอบการ ในการส่งออกสินค้าท้องถิ่นไปต่างประเทศ   

ขณะที่การพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า นโยบายการลดค่าครองชีพประชาชน เป็นนโยบายที่ได้รับความพึงพอใจเป็นอันดับแรกในกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในภาคกลาง (ร้อยละ 88.82) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 83.98) และภาคเหนือ (ร้อยละ 83.36) ขณะที่ผู้อาศัยในภาคใต้ มีความพึงพอใจเป็นอันดับแรกต่อนโยบายด้านการสร้างโอกาสทางการค้า สร้างความเข้มแข็งของธุรกิจ ด้วยซอฟต์พาวเวอร์ นวัตกรรม และการพัฒนามาตรฐาน SMEs (ร้อยละ 83.48) ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาให้นกกรงหัวจุกเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนผู้ที่อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีความพึงพอใจเป็นอันดับแรกต่อนโยบายด้านการปรับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ฯ (ร้อยละ 85.59) 

ส่วนการพิจารณาเป็นรายอาชีพ พบว่า นโยบายด้านการลดค่าครองชีพประชาชน ซึ่งเป็นนโยบายที่ประชาชนเกือบทุกอาชีพมีความพึงพอใจเป็นอันดับแรก ทั้งพนักงานของรัฐ (ร้อยละ 87.63) ผู้ไม่ได้ทำงาน (ร้อยละ 86.54) ผู้ประกอบการ (ร้อยละ 85.61) พนักงานเอกชน (ร้อยละ 83.17) เกษตรกร (ร้อยละ 80.99) และอาชีพอิสระ (ร้อยละ 80.15) ขณะที่นักศึกษามีความพึงพอใจเป็นอันดับแรกต่อนโยบายด้านการผลักดันข้อตกลงการค้าเสรี (ร้อยละ 87.68) 

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การผลักดันข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA การปรับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ฯ และนโยบายการเร่งรัดการส่งออก เป็นนโยบายที่นักศึกษา มีความพึงพอใจสูงสุด 3 อันดับแรก ซึ่งอาจสะท้อนว่า คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจต่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าของไทย ซึ่งเป็นนโยบายที่สร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงทางการค้าในระยะยาว สำหรับนโยบายที่มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการ อย่างครบวงจร ครอบคลุมการผลิตและการตลาดทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การดูแลราคาและปริมาณสินค้าเกษตร การดูแลราคาปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร การอำนวยความสะดวกทางการค้า การขยายช่องทางการค้าทั้งในและต่างประเทศ และการบูรณาการการทำงานของพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ในต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าท้องถิ่นได้รับความพึงพอใจอยู่ในระดับสูงเช่นกัน

นอกจากนี้การพิจารณาตามช่วงรายได้ พบว่า ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน จะมีความพึงพอใจต่อการลดค่าครองชีพประชาชนเป็นอันดับแรก แบ่งเป็น ผู้มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 82.27) ระหว่าง 10,001 – 30,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 83.50) และ 30,001 – 50,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 85.12) ส่วนผู้ที่มีรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน มีความพึงพอใจเป็นอันดับแรกต่อนโยบายการปรับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ฯ (ร้อยละ 88.17) และการลดค่าครองชีพเป็นอันดับสอง (ร้อยละ 86.27) 

นายพูนพงษ์ กล่าวถึงผลการสำรวจครั้งนี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจค่อนข้างมากต่อการดำเนินงานด้านต่างๆของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะนโยบายด้านการลดค่าครองชีพที่ได้รับความพึงพอใจสูงที่สุดทั้งในภาพรวม และครอบคลุมในหลายภูมิภาค สาขาอาชีพ และระดับรายได้ รวมถึงนโยบายด้านการสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการ ตลอดจนนโยบายเสริมสร้างขีดความสามารถทางการค้าและการแข่งขันของไทย แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ทำให้ประชาชนยอมรับและพึงพอใจต่อผลงานได้แม้ทำงานเพียงไม่นาน และขอให้ประชาชนมั่นใจว่า ในปี 2567 นี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงมุ่งมั่นและทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ การผสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการของไทยในตลาดโลก สร้างรายได้ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนทุกภาคส่วน การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งล่าสุดได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีไทย - ศรีลังกา แล้วเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รวมถึงการเจรจาระหว่างไทย - สหภาพยุโรป(European Union : EU) และไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนภาคการส่งออก ที่กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแผนส่งเสริมรวมแล้วกว่า 400 กิจกรรม โดยให้ความสำคัญกับการรักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้สามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ

 

#พาณิชย์ #ค่าครองชีพ #ราคาสินค้า