สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…
คำถามถึงธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับนโยบายกำกับดูแลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแบงก์พาณิชย์ต่างๆ ดังเซ็งแซ่ขึ้นอีกครั้ง หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัวว่า “จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SME อีกด้วย ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่า แบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ” …*…
สอดรับกับมุมมองจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานที่ปรึกษาของนายกฯ ที่ได้ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก “Kittiratt Na Ranong” ว่า ธุรกิจที่การแข่งขันต่ำ รวมหัวกัน “ทำกำไรสูง” บนความวินาศของลูกค้า... ถือว่าน่ารังเกียจนัก และที่น่าตำหนิที่สุด คือ “ผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง” ที่(ไม่)กำกับดูแล …*…
ที่ผ่านมานั้นนายกิตติรัตน์ได้แสดงจุดยืนผ่าน facebook ส่วนตัวแสดงความไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ยมาตลอด ไล่ตั้งแต่การโพสต์ในวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ว่า “การเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ด้วยหวังจะชะลอเงินเฟ้ออันเกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้น (Cost push inflation) ในยามที่ความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือนกำลังอ่อนแอ จะเรียกว่าเป็นความ “โง่เขลา” ได้ไหม? ส่วนการปรามว่านักการเมือง ในยกใหม่ว่า “อย่าประชานิยมนัก” คืออยากได้ “ประชาวิบัติ” อย่างเดิมๆ นักหรือ? (ผมทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นแบบไทยเฉยก็ได้... แต่อยากเตือนสติผู้มีอำนาจวาสนาที่เป็นอยู่อย่างมั่งมีให้เดินออกมาจากห้องแอร์ ดูความจริงของชีวิตผู้คนบ้าง) …*…
ถัดมา 30 กันยายน 2566 นายกิตติรัตน์โพสต์ยิงหมัดตรงใส่แบงก์ต่างๆว่าว่า “ขอเรียนถาม “ธนาคารพาณิชย์ ที่ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้” ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจเป็นแบบนี้... “ท่านไม่สงสารลูกหนี้ของท่านบ้างเลยหรือ?” …*…
5 ธันวาคม 2561นายกิตติรัตน์โพสต์ย้ำว่า “ดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น คือปัญหารุนแรงของลูกหนี้เงินกู้... ลูกหนี้รับดอกเบี้ยปัจจุบันไม่ไหวแล้ว (ไม่ใช่รับได้สบาย... ผมขอยืนยัน) …*…
และ 5 มกราคม 2567 นายกิตติรัตน์โพสต์ชี้ว่า “ลดดอกเบี้ยให้เร็ว และมากคือทางรอด”…*…
ต้องรอดูต่อไป ว่าการแท็กทีมระหว่างนายกฯกับนายกิตติรัตน์ที่ออกมาโพสต์รัวๆ จะมีผลมากน้อยเพียงใดต่อท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน ที่เพิ่งมีการประเมินเมื่อช่วงสิ้นปีก่อนว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันเหมาะสมกับบริบทที่เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นตัวกลับสู่ระดับศักยภาพ เอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน เสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว และป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน อีกทั้งช่วยรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า …*…
ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีคนในแวดวงการเงินพยายามออกตัวอธิบายแทนแบงก์พาณิชย์ว่าไม่ใช่ “เสือนอนกิน” รับเงินฝากโดยให้ดอกเบี้ยถูกๆ มาปล่อยกู้ดอกเบี้ยแพง ด้วยการอ้างว่าแบงก์พาณิชย์มีต้นทุนค่าบริหารจัดการอื่นๆ มากมาย ไม่ใช่ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยฝากและกู้อย่างที่มีการเข้าใจกัน แต่นั่นก็มีน้ำหนักน้อยมาก เมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงที่ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ในประเทศไทยสูงถึงกว่า 5-6% ขึ้นไป ผิดจากแบงก์พาณิชย์ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์และญี่ปุ่นที่มีส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ เพียงแค่ 2% อีกทั้งในรอบปีที่ผ่านมามีตัวเลขผลกำไรของกลุ่มแบงก์พาณิชย์ไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 2 แสนล้าน โดยส่วนหนึ่งมาจากประโยชน์ที่ได้รับจากการขึ้นดอกเบี้ย …*…
จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้หลายภาคส่วนไม่ใช่แค่เฉพาะลูกหนี้แบงก์เท่านั้นที่เห็นด้วยกับความคิดของ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช นักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค และอดีต รมว.คลัง ที่ว่า “แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยสูงเกินไป ทำให้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันมา 3 เดือนแล้ว หนสุดท้ายขึ้นดอกเบี้ย แม้เห็นตัวเลขเงินเฟ้อติดลบแล้ว ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรมากเกินปกติกว่า 2.2 แสนล้านบาท แต่ระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำเพียง 2.4% ในปี 66 ประชาชนยากจนลง คนไม่มีงานทำ ขายของไม่ได้ แบงก์ชาติจึงควรหันมาดูแลประชาชนให้มากขึ้น” …*…
ถึงวันนี้ หากไม่อยากได้ยินข่าวลือเรื่องปลดผู้ว่าแบงก์ชาติออกมาอีก สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเร่งทำคือส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างแบงก์พาณิชย์ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกู้และฝาก ให้อยู่ในระดับเดียวหรือใกล้เคียงกับนานาอารยะประเทศ เพื่อความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ที่กำลังหลงเหลือลมหายใจรวยรินเต็มที
ที่มา:เจ้าพระยา (11/1/67)