วันที่ 11 ม.ค.2567เวลา 13.30 น.ที่รัฐสภา นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วยน.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2567 แถลงว่า กรรมาธิการงบฯจะมีการแถลงข่าวสัปดาห์ละ 2 วัน คือวันอังคาร เวลา 13.00 น. และวันพฤหัสบดีเวลา 13.30 น. ทั้งนี้ในการประชุมของกรรมาธิการฯเมื่อวานนี้ (10 ม.ค.) ได้พิจารณาเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ งบประมาณรายจ่าย และการตรวจสอบงบการเงินของหน่วยรับงบประมาณในภาพรวม ทั้ง 4 หน่วยงานคือกระทรวงการคลัง สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ ส่วนการพิจารณาในวันนี้ (11 ม.ค.)จะมีการพิจารณาในส่วนงบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรี คิดเป็น 1.66% โดยมีจำนวน 16 หน่วยงานและ 2 กองทุน
โดยแจงรายละเอียดดังนี้ คือ 1.สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 2.สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 3.สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ และความสามัคคีปรองดอง 4.สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ 5. กอ.รมน. 6.สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 7.สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจฯ 8.สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน 9.สำนักงานพัฒนาระบบราชการ 10.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 11.กรมประชาสัมพันธ์ 12.สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ 13.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 14.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 15.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 16.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสำหรับกองทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่วนอีก 2 กองทุน คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม สำหรับกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม และสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ซึ่งทั้งหมดนี้จะเข้ามาชี้แจงงบประมาณกับคณะกรรมาธิการโดยคาดว่า จะเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 21.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณางบประมาณในส่วนของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีนพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ชี้แจงด้วยตัวเอง ทั้งนี้ระหว่างการประชุมนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ กรรมาธิการวิสามัญ ได้สอบถามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยว่าอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ หลังจากเลขาธิการนายกฯมักให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายครั้งว่าเศรษฐกิจประเทศอยู่ในช่วงของการเจริญเติบโตช้า
โดยนพ.พรหมมินทร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจขณะนี้อยู่ในภาวะวิกฤติอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับกบที่ถูกต้ม หมายความว่า จะค่อยๆซึมยาวจนไม่รู้สึก แต่พอเมื่อรู้สึกตัวแล้วก็จะมีปัญหา สถานการณ์ตอนนี้ขอแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ 1.ตั้งแต่ปี 2550 ก่อนมาถึงเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด จะพบว่าตัวเลขการส่งออกของประเทศเริ่มมีปัญหาแล้ว 2.ช่วงโควิด โดยเศรษฐกิจของไทยตกลึกที่สุดในภูมิภาคนี้และเติบโตช้าที่สุด 3.ปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นชัดจากอัตราเงินเฟ้อที่ตกลงแต่ดอกเบี้ยยังสูงขึ้น ประเทศไทยโตแบบไม่เท่ากัน จำนวนหนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในรอบ10 ปี จาก 70% ต่อจีดีพีเป็น 91.6 %ต่อจีดีพี แสดงว่าคนจนกำลังยากจนลงเรื่อยๆ
“เวลาเอาตัวเลขภาพรวม อาจจะดูไม่ชัด แต่คนที่เดือดร้อน ถ้าลองถามประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศแล้วเดือดร้อนแล้ว เขาถือว่าวิกฤติ เพราะฉะนั้นอัตราการเกิด การกระทำที่ผิดกฎหมายจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงขอตอบว่าภาวะของประเทศอยู่ในวิกฤติซึมยาว จำเป็นต้องมีมาตรการในการแก้ไข” เลขาธิการนายกฯ กล่าว