"อนุทิน" ยันพรรคร่วมฯ โหวตผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่สมรู้ร่วมคิด วอนอย่าเอาไปเปรียบกับนโยบายกัญชาที่รัฐบาลจะเอากลับไปเป็นยาเสพติด เห็นต่างได้แต่ไม่ขัดแย้ง สแกนโหวตงบฯเพิ่มเติม67 งูเห่าโผล่หนุน  ปชป.เสียงหายเยอะสุด ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลหายอื้อ 

     เมื่อวันที่ 18 ก.ค.67 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตการผ่านงบประมาณเงินดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคร่วมรัฐบาลที่อาจจะส่อผิดกฎหมาย ว่า ก่อนหน้านั้นได้รับการชี้แจงจากคณะกรรมการฯ และในคณะรัฐมนตรีทั้งกฤษฎีกา ยืนยันว่าไม่ขัดกับกฎหมายและไม่ใช่การยอมหรือไม่ยอมของพรรคร่วมรัฐบาล แต่เป็นการร่วมรัฐบาล หากนโยบายไหนของพรรคร่วมรัฐบาลเกิดประโยชน์กับประชาชนก็ต้องร่วมกันสนับสนุน ไม่งั้นจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันไม่ได้ ส่วนจะเสี่ยงต่อการขัดกฎหมายและเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันหรือไม่ ครั้งนี้ถือเป็น พ.ร.บ.และผ่านความเห็นชอบจากสภาอย่างถูกต้อง ทุกคนจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อกัน เป็นรัฐบาลผสมต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน หากขัดกันก็จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้
 

   ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ . วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ เพื่อใช้ในโครงการเติมเงินหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยในการลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ปรากฏว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 461 เสียง ผลการลงมติเห็นด้วย 297 เสียง ไม่เห็นด้วย 164 เสียง งดออกเสียงและไม่ลงคะแนนไม่มี
   

 ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า เสียงของพรรคฝ่ายค้านที่หายไปคือพรรคก้าวไกล มีผู้ที่ไม่ได้กดบัตรลงคะแนน 4 คน ประกอบด้วย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ,นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา, นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม ส.ส.เชียงราย และ นายปรีดี เจริญศิลป์ ส.ส.นนทบุรี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ได้ร่วมโหวต 10 คน อาทิ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และเลขาธิการพรรค ,นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรค เป็นต้น
 

   จากการตรวจสอบยังพบอีกว่ามี สส.ฝ่ายค้านโหวตสวนมติของพรรค ได้แก่ 3 ส.ส.ของพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ซึ่งก่อนหน้านี้มีพฤติการณ์โหวตลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง และมีข่าวที่จะย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นางสุภาพร สลับศรี ส.ส.ยโสธร ,นายหรั่ง ธุระพล ส.ส.อุดรธานี และนายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ ส.ส. อุดรธานี รวมถึงยังมี นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ,นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ และ นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคใหม่ ที่โหวตเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ของรัฐบาล
 

   สำหรับพรรคร่วมรัฐบาล พบว่าพรรคเพื่อไทยมี ส.ส. 7 คน ที่ไม่ได้โหวต เช่น นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ รมว.กลาโหม, นายเกรียง กัลป์ตินันท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อรมช.มหาดไทย ,ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ,พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ,นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ส.ส.ขอนแก่น และ น.ส.วิลดา อินฉัตร ส.ส.ศรีสะเกษ
 

   ส่วนพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้โหวต 2 คน ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กับ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ส.ส.พระนครศรีอยุธยา และรมช.ศึกษาธิการ ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ มีผู้ไม่ได้มาร่วมโหวต 6 คน ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เลขาธิการพรรคฯ และรมว.เกษตรและสหกรณ์ ,นางขวัญเรือน เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว ,นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี ,นายนเรศ ธำรงทิพยคุณ ส.ส.เชียงใหม่ และ นายทวี สุระบาล ส.ส.ตรัง
 

   ด้านพรรครวมไทยสร้างชาติที่ไม่ได้โหวต  4 คน  ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ร่วมโหวต 1 คน คือ นายพาณุวัฒณ์ สะสมทรัพย์ ส.ส.นครปฐม ส่วนพรรคประชาชาติ 1 คน คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคฯ และ รมว.ยุติธรรม ขณะที่พรรคเสรีรวมไทย ไม่ร่วมโหวต 1 คน ได้แก่ นายมังกร ยนต์ตระกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคฯ
   

 นอกจากนี้ ประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ทั้ง 3 คน ก็ไม่ได้ร่วมโหวตด้วยเช่นกัน ได้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ ในฐานะประธานสภาฯ , นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคเป็นธรรม ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง