วันที่ 9 ม.ค.2567 เวลา 12.00 น.ที่รัฐสภา นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ระบุว่าคณะกรรมการกฤษฎีการมีความเห็น ว่าพ.ร.บ. กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อทำโครงการเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทสามารถทำได้ ว่า การที่กฤษฎีกามีความเห็นว่าสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขพ.ร.บ.การเงินการคลัง มาตรา 53 เกี่ยวข้องกับวิกฤตของประเทศ และมาตรา 57 เกี่ยวข้องกับความคุ้มค่าในการดำเนินการ

ซึ่งคำว่าวิกฤตทั่วไปจะต้องเป็นกรณีเศรษฐกิจถดถอยอย่างชัดเจนและยาวนาน รวมทั้งประเทศเผชิญความยากลำบาก มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการคือ ความรุนแรง ระยะเวลาการชะลอตัวที่ยาวนาน รวมถึงขอบเขตของผลกระทบเป็นวงกว้างและแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในภาคส่วนต่างๆ และมีปัญหาความไม่มั่นคงทางการเงิน เช่น ความล้มเหลวของธนาคาร หรือราคาสินทรัพย์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่บางคนอาจจะมองแค่ว่าการชะลอเศรษฐกิจหลายไตรมาสติดต่อกัน หรือเทียบระหว่างไตรมาสนี้ปีนี้กับไตรมาสนี้ของปีที่แล้วถ้าติดลบก็ถือว่าวิกฤต จึงอยู่ที่คำนิยาม ว่าจะเป็นอย่างไร

นายสถิตย์ กล่าวว่า ทางที่ดีรัฐบาลควรเรียกประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจ ของประเทศ การคลัง สภาพัฒน์ฯ  ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อปรึกษาและตกลงกันว่าคำว่านิยามเศรษฐกิจตามความหมายของพรบวินัยการเงินการคลังเป็นอย่างไร ถึงขั้นวิกฤตหรือยัง เพราะถ้าไม่ให้ชัดเจนก็สุ่มเสี่ยงจะมีการโต้แย้งวิวาทะทางวาจา และทางคดีมากมาย ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต ส่วนเรื่องความคุ้มค่า ต้องดูว่ากระทบต่อหนี้สาธารณะมากน้อยเพียงใด เพราะมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว ร้อยละ 3.2

ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คาดการณ์ว่า หากมีการเติมเงิน 5 แสนล้านบาท เศรษฐกิจอาจขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.8 แปลว่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 0.6  แต่ในทางกลับกันต้องประเมินถึงสถานะหนี้สาธารณะของประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 62.4 ของ GDP แต่หากมีการกู้เงินอีก 5.6 แสนล้านบาท จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 64 - 65 ทำงานรัฐบาลต้องเทียบว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตขึ้น 0.6 จะคุ้มค่ากับการเสียพื้นที่ทางการคลังจากหนี้สาธารณะที่ขยับตัวขึ้นหรือไม่

เมื่อถามว่ารัฐบาลควรทบทวนการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทหรือไม่ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง  กล่าวว่า พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังระบุไว้ชัดเจนว่าในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบประมาณที่มีอยู่ได้ สามารถออกเป็นพ.ร.บ. เงินกู้ได้ ซึ่งในส่วนนี้จะส่งผลให้เป็นการเติมเงิน 500,000 ล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและจะส่งผลให้เศรษฐกิจโตขึ้นประมาณ ร้อยละ 3.2 แต่หากใช้งบประมาณประจำปีปกติ จะไม่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ