“เสมือนเพื่อนช่วยเพื่อน อปท.บางแห่งใช้แหล่งน้ำเดียวกัน เวลาเกิดปัญหา อปท. ก็จะส่งข่าวให้ กปภ. เพื่อเตรียมการเฝ้าระวังได้ทัน หรือบางครั้ง กปภ. ขาดแคลนแหล่งน้ำ ก็จะไปขอจาก อปท. เพื่อให้บริการน้ำในท้องถิ่นไม่หยุดชะงัก”  

น้ำถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่คุณภาพน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน  การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เป็นหน่วยงานเชี่ยวชาญด้านการผลิตน้ำประปาสะอาดและส่งจ่ายด้วยระบบท่อให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 74 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้อุปโภคบริโภคน้ำสะอาดและถูกสุขลักษณะ โดยปลูกฝังให้องค์กรมีแนวปฎิบัติความรับผิดชอบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และประชาชนอย่างเป็นระบบผ่านกลไกการกำกับกิจการที่ดี เพื่อนำองค์กรสู่ความยั่งยืน 
   
กปภ. มีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงความเชียวชาญขององค์กรสู่ชุมชนโดยรอบให้ได้ใช้น้ำประปาที่สะอาด ปลอดภัย จึงได้จัดตั้ง “โครงการน้ำประปา กปภ.-อปท. เพื่อปวงชน” ขึ้น เพื่อช่วยเหลือวิชาการด้านประปาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และตอบสนองนโยบายของประเทศตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย ที่มอบให้แก่ กปภ. หน่วยงานที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาวะของประชาชน ซึ่งนอกจากน้ำประปาเพื่อการอุปโภคแล้ว กปภ. ต้องพัฒนาคุณภาพน้ำประปาให้บริโภคได้ หรือดื่มได้ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนและเกิดผลเป็นรูปธรรม  

 

นายจักรพงศ์   คำจันทร์ รองผู้ว่าการ (ปฎิบัติการ 2 )รักษาการแทนผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค กล่าวว่า ด้วยภารกิจของ กปภ. ทีมี 234 สาขา 74 จังหวัดทั่วประเทศ จึงมีความใกล้ชิดกับท้องถิ่นชุมชน ไม่ว่าในพื้นที่การให้บริการของ กปภ. หรือพื้นที่ข้างเคียง และในความเป็นมืออาชีพของ กปภ. ที่มีระบบผลิตที่หลากหลาย มีแหล่งน้ำมากมายบางครั้ง อปท.มีปัญหา การให้บริการระบบประปา ไม่ว่าจะเรื่องของแหล่งน้ำ ต้นทุนในการผลิต หรือระบบการกรอง เกี่ยวกับกิจการประปา อปท.จะสอบถามกับ กปภ. สาขาข้างเคียงที่อยู่ในพื้นที่ “เสมือนเพื่อนช่วยเพื่อน อปท.บางแห่งใช้แหล่งน้ำเดียวกัน เวลาเกิดปัญหา อปท. ก็จะส่งข่าวให้ กปภ. เพื่อเตรียมการเฝ้าระวังได้ทัน หรือบางครั้ง กปภ. ขาดแคลนแหล่งน้ำ ก็จะไปขอจาก อปท. เพื่อให้บริการน้ำในท้องถิ่นไม่หยุดชะงัก”  

 

การดำเนินโครงการฯ มุ่งเน้นให้บุคลากรของ อปท. พัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญการผลิตน้ำประปาผ่านการฝึกอบรมวิชาชีพประปา รวมถึงสร้างอาชีพช่างประปาเบื้องต้นให้กับประชาชนทั่วไป และผู้คุมขังที่จะได้รับการอภัยโทษด้วย นอกจากนี้ยังเปิดให้ อปท. ศึกษาดูงานระบบผลิตประปาของ กปภ. ทั้ง 234 สาขา เสริมสร้างความรู้และแนวทางปฎิบัติผ่านการบรรยายโดยวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญของ กปภ. ในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ 

“ที่ผ่านมา อปท.แต่ละแห่งขาดพี่เลี้ยง ขาดการแนะนำแต่พอ กปภ. ไปให้คำแนะนำ อปท. เกิดความมั่นใจมากขึ้น กลับไปดูแลการประปาและแก้ปัญหาในท้องถิ่นตัวเองได้” ส่วนความร่วมมือกับต่างประเทศ กปภ. ได้รับความร่วมมือกับ JICA และ Saitama Prefecture Bureau ประเทศญี่ปุ่น ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ แนะนำเทคนิค และนวัตกรรมต่าง ๆ ทำให้ลดขั้นตอนการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้ระบบประปาในบ้านเราเกิดความยั่งยืน 


 
 ขณะที่การตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาให้ อปท. ส่วนหนึ่งมีความร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกรมอนามัยจะมีบทบาทในการตรวจ Water is Life โดยทำร่วมกับ กปภ. จนมีองค์ความรู้มากขึ้น โดยกรมอนามัยเป็นผู้ให้ใบเซอร์ (Certificate) กับท้องถิ่น ขณะเดียวกัน กปภ. มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพน้ำประปาให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ( WHO ) และมีเกณฑ์บางตัวที่กรมอนามัยปรับให้เข้ากับสภาพและบริบทแต่ละพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้น้อยไปกว่า WHO 

 โครงการฯดังกล่าว กปภ. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งมีหน่วยงาน อปท. ที่ได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านวิชาการจาก กปภ.แล้วทั้งสิ้น 1,889 แห่ง ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 2 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี สามารถขยายผลต่อยอดไปถึงนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย  ปัจจุบัน กปภ. กำลังเร่งดำเนินการ 3 รูปแบบ ในต้นปี 2567 นี้ 

เริ่มจากสแกนพื้นที่ ที่กรมอนามัยประกาศเป็นพื้นที่น้ำสะอาดดื่มได้ประมาณ  234  พื้นที่ แต่ประชาชนยังไม่เชื่อมั่นในการดื่มน้ำประปา ส่วนหนึ่งการประชาสัมพันธ์น้อย และการให้ความรู้ประชาชน คือถ้าน้ำดื่มของ กปภ. จะต้องมีกลิ่นคลอรีน ซึ่งเป็นการฆ่าเชื้อ กลิ่นและรสชาติไม่ชวนดื่ม ฉะนั้นทำอย่างไรไม่ให้มีกลิ่นคลอรีน เปลี่ยนเป็นตัวอื่นได้ไหมเป็นโอโซน หรือ อาร์โอ รวมถึงการปรับปรุงเส้นท่อ เพื่อตรวจสอบทิศทางการไหลของน้ำ ทางเทคนิคและทางวิศวกรรม เพื่อลดภาระให้กับประชาชนทั่วไปสามารถเปิดก๊อกจากบ้านดื่มได้  

 
ติดตั้ง ตู้น้ำดื่ม ระบบอาร์โอ ตั้งเป้าหมาย 1,000  ตู้ ราคาประมาณ 60,000 บาท ต่อตู้ กำลังผลิต 20 ลิตร ต่อ 1 ชั่วโมง คนทั่วไปดื่มน้ำ 2 ลิตรต่อวัน ใช้เวลา 1 ชั่วโมง ต่อ 10 คน ซึ่งเป็นข้อกำจัด ถ้าเกิดภัยแล้ง จะทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนเข้าถึงน้ำดื่มได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว 

โครงการ มินิสเตชั่น โดยทำกรรมวิธีให้น้ำดื่มได้ กำลังผลิตอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเป็น 1หรือ 2 ลูกบาศก์เมตร ต่อชั่วโมง โดยจะมีถังเก็บน้ำสำรองไว้ และนำไปบรรจุในภาชนะเพื่อแจกให้ประชาชนที่ต้องการ แต่ก็ยังเป็นห่วงภาชนะที่บรรจุน้ำ ถ้าไม่สะอาด น้ำก็จะเหมือนเดิม ฉะนั้นต้องกลับมาดูภาชนะที่บรรจุด้วยจะต้องสะอาด ไม่ใช่ว่าเป็นรถบรรทุกน้ำเหมือนทั่ว ๆ  ไป ซึ่งกปภ.มีเป้าหมายให้เกิดยั่งยืน น้ำสะอาดที่ดื่มได้ ควรจะอยู่คู่กับ กปภ. กปน. (การประปานครหลวง) หรือ อปท. ตลอดไป   โครงการดังกล่าวจะสามารถส่งเสริมให้ อปท.ยกระดับคุณภาพน้ำประปา ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่นอกเขตการให้บริการของ กปภ. ได้อุปโภคบริโภคน้ำประปาที่สะอาดปลอดภัย ได้มาตรฐานในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง