กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขานรับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์กระตุ้นเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดให้เติบโต ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) และจังหวัดสตูล ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนธุรกิจทุกประเภทลง 50% ช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามาปักธงธุรกิจในพื้นที่ ช่วยกระจายความมั่นคงให้ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง สร้างรายได้พัฒนาความเป็นอยู่ที่ดี ให้ประชาชน และอาศัยภูมิประเทศที่ได้เปรียบติดกับประเทศเพื่อนบ้านดัน 5 จังหวัดเป็นประตูเศรษฐกิจของไทยที่พร้อมรับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เข้มแข็งโดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ          ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา (เฉพาะในท้องที่อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย) และจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีโอกาสสูงสำหรับนักลงทุนเพราะติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับรัฐบาลได้มุ่งเน้นสร้างความเจริญในท้องถิ่นให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีงานทำ และมีรายได้ ซึ่งหลายหน่วยงานได้เข้าไปสนับสนุนโครงการพัฒนาในด้านต่างๆ ในพื้นที่ จึงเป็นโอกาสที่จะได้ผลักดันให้ทั้ง 5 จังหวัดเป็นประตูเศรษฐกิจที่พร้อมรับนักลงทุนของไทย

โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้ออกกฎกระทรวงลดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยลดอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนธุรกิจ การตรวจเอกสาร การขอสำเนาเอกสารพร้อมคำรับรอง และค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด ในพื้นที่ฯ ลงกึ่งหนึ่งหรือลดลง 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2569”

 

“การลดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นหนึ่งในของขวัญปีใหม่ที่กรมฯ มอบให้กับภาคธุรกิจและประชาชนซึ่งจะช่วยจูงใจและส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจเกิดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเพิ่มขึ้น รวมถึงสนับสนุนการลงทุนธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องเพราะกฎกระทรวงการลดค่าธรรมเนียมฯ ในลักษณะนี้ได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2550 โดยฉบับก่อนหน้านี้มีผลบังคับใช้ถึง 31 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา จึงได้ดำเนินการขยายระยะเวลาออกไปอีก 3 ปี ตามที่กล่าวข้างต้น ทั้งนี้จากสถิติตั้งแต่ 1 มกราคม 2564-31 ตุลาคม 2566 มีผู้ใช้บริการจดทะเบียนแล้วจำนวน 12,576 คำขอ และเป็นการรับรองเอกสาร 2,031 คำขอ ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบธุรกิจจำนวนทั้งสิ้น 4,959,150 บาท” อธิบดีกล่าว

ทั้งนี้ปัจจุบันมีนิติบุคคลในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจคงอยู่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 6,665 รายทุนจดทะเบียน 47,263.59 ล้านบาท แบ่งเป็นจังหวัดนราธิวาส จำนวน 1,642 ราย ทุนจดทะเบียน 7,978.65 ล้านบาท จังหวัดปัตตานี จำนวน 1,661 ราย ทุนจดทะเบียน 9,336.26 ล้านบาท จังหวัดยะลา จำนวน 1,717 ราย ทุนจดทะเบียน 11,588.83 ล้านบาท จังหวัดสงขลา จำนวน 733 ราย ประกอบไปด้วยอำเภอจะนะ 321 ราย อำเภอเทพา 165 ราย อำเภอนาทวี 177 ราย และอำเภอสะบ้าย้อย 70 ราย ทุนจดทะเบียน 14,048.15 ล้านบาท และจังหวัดสตูล จำนวน 912 ราย ทุนจดทะเบียน 4,311.70 ล้านบาท

 

#กรมพัฒนาธุรกิจการค้า #เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจภาคใต้ #จดทะเบียนธุรกิจ #พาณิชย์