เมื่อวันที่ 7 ม.ค.67 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจความรู้สึกของประชาชน (Sentiment Survey) เรื่อง เงินในกระเป๋า กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,020 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 2 – 6 มกราคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา

เมื่อสอบถามถึงเงินในกระเป๋าของประชาชนช่วงต้นปี พบว่าประชาชนเป็นทุกข์มากถึงมากที่สุดร้อยละ 23.9 เป็นทุกข์ปานกลางร้อยละ 30.1 เป็นทุกข์น้อยถึงไม่ทุกข์เลยร้อยละ 46.0 เมื่อแบ่งออกตามกลุ่มอาชีพพบว่ากลุ่มคนว่างงาน กับ กลุ่มมนุษย์เงินเดือนเป็นกลุ่มคนที่ทุกข์มากถึงมากที่สุด สูงสุดคือกลุ่มคนว่างงานเป็นทุกข์มากที่สุดร้อยละ 37.5 รองลงมาคือ มนุษย์เงินเดือนทำงานบริษัทเอกชนร้อยละ 32.6 ค้าขายอิสระร้อยละ 28.2 เกษตรกรรับจ้างร้อยละ 20.7 และข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐร้อยละ 18.7 ซึ่งมีสัดส่วนของผู้เป็นทุกข์น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่น

เมื่อแบ่งออกตามกลุ่มเพศ พบว่า ชายเป็นทุกข์มากถึงมากที่สุดเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตนช่วงต้นปีนี้ร้อยละ 25.2 มากกว่า หญิงร้อยละ 18.2 และเมื่อแบ่งตามช่วงอายุพบว่า คนสูงวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเป็นทุกข์มากถึงมากที่สุดเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตนร้อยละ 27.1 มากกว่าทุกกลุ่มช่วงอายุคืออายุ 50 – 59 ปีร้อยละ 24.6 อายุไม่เกิน 39 ปี ร้อยละ 23.7 และอายุ 40 – 49 ปี ร้อยละ 18.5 ซึ่งเป็นสัดส่วนของผู้เป็นทุกข์น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น ๆ

เมื่อแบ่งตามกลุ่มคนที่รู้สึกมั่นคงในอาชีพการงานและรายได้ พบว่า กลุ่มคนที่รู้สึกไม่มั่นคงมีสัดส่วนของผู้เป็นทุกข์มากถึงมากที่สุดสูงสุดคือร้อยละ 35.4 รองลงมาคือกลุ่มคนที่รู้สึกมั่นคงรายได้ปานกลางร้อยละ 20.9 และกลุ่มคนที่รู้สึกมั่นคงดีรายได้ดีแต่เป็นทุกข์ใจมีอยู่ร้อยละ 16.7 ตามลำดับ

เมื่อแบ่งตามภูมิภาค พบว่ากลุ่มคนภาคใต้เป็นกลุ่มคนที่รู้สึกเป็นทุกข์มากถึงมากที่สุดเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตนช่วงต้นปีคือร้อยละ 32.1 รองลงมาคือกลุ่มคนภาคกลางร้อยละ 29.4 กลุ่มคนกรุงเทพมหานครร้อยละ 27.3 กลุ่มคนอีสานร้อยละ 18.8 และกลุ่มคนภาคเหนือร้อยละ 11.5 ตามลำดับ

ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลเรื่อง เงินในกระเป๋าของประชาชนต้นปีนี้ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าพิจารณาหลายมิติได้แก่มิติด้านอาชีพ เพศ ช่วงอายุ ความรู้สึกมั่นคงในอาชีพการงานการเงิน และประชาชนในแต่ละภูมิภาคมีความรู้สึกเป็นทุกข์แตกต่างกันเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตนเอง ที่วิเคราะห์มาจนอาจกล่าวได้ว่าในช่วงที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสานรู้สึกเป็นทุกข์มากถึงมากที่สุดน้อยกว่าคนในภาคใต้และภาคอื่น ๆ และยังพบด้วยว่ากลุ่มข้าราชการเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความทุกข์วิกฤตน้อยกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ๆ

 ดังนั้นแนวนโยบายจะเพิ่มเงินในกระเป๋าของประชาชนด้วยโครงการเงินดิจิทัลของรัฐบาลและนโยบายเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการอาจจะต้องพิจารณาใช้เม็ดเงินหยอดเข้ากระเป๋าของประชาชนให้ตรงกลุ่ม ที่น่าพิจารณาคือกลุ่มสูงวัย กลุ่มคนว่างงาน กลุ่มมนุษย์เงินเดือนบริษัทเอกชน และกลุ่มคนในภาคใต้ ที่รัฐบาลน่าจะตัดสินใจออกนโยบายลดความทุกข์ของประชาชนให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย