วันที่ 5 ม.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องเป็นวันสุดท้าย ต่อมาเมื่อเวลา 12.57 น.นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ประเทศไทยลงทุนงบประมาณด้านการศึกษา และทรัพยากรจำนวนมาก แต่ยังพบวิกฤตด้านการศึกษาในประเด็นประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากร โดยตนเห็นด้วยกับการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา แต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพด้านการศึกษา ทั้งนี้งบฯ67 ตนมองว่าควรทบทวนโครงการรวมมิตรความดี เช่น โครงการเกี่ยวกับต่อต้านยาเสพติด 125 ล้านบาท และมีรายการใหม่ ส่งเสริมการสร้างคนดีทางศาสนาที่ถูกต้อง 273 ล้านบาท
ทั้งนี้ไม่ใช่ตนต่อต้านการสร้างศีลธรรม สุจริต แต่ต้องทบทวนในประเด็นที่เป็นปัญหาเกี่ยวข้อง เช่น แป๊ะเจี๊ยะ, ไม่ลงโทษครูที่ทำผิดจริยธรรมหรือกฎหมาย เป็นต้น ตนอยากเห็นคือหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ที่เน้นสมรรถนะทางการศึกษา แทนหลักสูตรการศึกษาฉบับเก่าที่ใช้ต่อเนื่องมาถึง 20 ปี ทั้งนี้ตนขอเรียกร้องให้นายกฯ ยืนยันถึงการจัดทำหลักสูตรฉบับใหม่ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของบางสำนักพิมพ์ ขณะเดียวกันในงบปี67 พบว่ารัฐบาลปรับลดงบลงทุนจำนวนมาก คือ อาคารสำหรับเด็กด้อยโอกาสและพิการที่ลดลงถึง 45% นอกจากนั้นยังพบว่าเงินอุดหนุนด้านการศึกษามีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 24% ในจังหวัดของ สส.เขตที่อยู่ในสังกัดพรรคเดียวกันกับรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงศึกษาธิการ
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า วันนี้วิกฤตการศึกษาไทยไม่สามารถแก้ไขได้ หากเราไม่ผ่าตัดหัวใจทั้ง 4 ห้องของงบประมาณทางด้านการศึกษา คือ1.ห้องงบนโยบายต้องทำอย่างน้อย 3 อย่าง 1.ยกเลิกโครงการที่ไม่จำเป็น 2.การกระจายงบอบรบจากส่วนกลางไปให้ครูและโรงเรียนโดยตรง 3.เดินหน้าจัดทำหลักสูตรด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ที่เน้นทักษะกับสมรรถนะ
2.ห้องงบลงทุนต้อง ทำอย่างน้อย 2 อย่างคือ1.การประหยัดงบให้ถูกจุด โดยไม่ซ้ำเติมหรือกระทบต่อกลุ่มเปราะบางหรือไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางด้านศึกษา 2.การกระจายงบประมาณลงทุนให้กับแต่ละจังหวัดอย่างเป็นธรรม ด้วนเกณฑ์ที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ 3.ห้องเงินอุดหนุน ต้องทำอย่างน้อย 3 อย่าง 1.เพิ่มเงินอุดหนุนให้กับนักเรียนที่ยากจน และเสี่ยงที่สุดที่จะหลุดออกจากวงการศึกษาอย่างน้อย 5 พันล้านบาท 2.การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อลดภาระให้กับผู้ปกครอง
3.เปลี่ยนวิธีการอุดหนุนให้อุดหนุนแบบไม่กำหนดวัตถุประสงค์ และ4.ห้องบุคลากร ต้องทำอย่างน้อย 2 อย่าง 1.เร่งหาทางออกเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก 2.การปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงเพื่อลดความซ้ำซ้อน กระจายอำนาจและเพิ่มประสิทธิภาพ ข้อเสนอดังกล่าวสามารถร่วมกันดำเนินการได้เลยในชั้นกรรมาธิการ หรือวาระ 2-3 ได้
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า การผ่าตัดหัวใจทั้ง 4 ห้องนั้นไม่เพียงแต่ทำให้แต่ละห้องแข็งแรงมากขึ้น แต่จะทำให้หัวใจโดยรวมให้งบการศึกษาไทยตอบโจทย์ใน 2 มิติคือ 1.ทำให้หัวใจเราสมดุลมากขึ้นในแต่ละห้อง เพราะงบประมาณทุกบาททำให้สามารถประหยัดได้ในแต่ละห้อง สามารถนำเงินมาเติมให้นักเรียนได้มากขึ้น 2.ทำให้หัวใจแต่ละห้องเต้นตามจังหวะของโรงเรียนและนักเรียนมากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้กระทรวงคิดเองทั้งหมด แต่จะกระจายอำนาจให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการตัดสินใจว่าจะใช้งบไปทำอะไร จะนำงบลงทุนไปลงทุนด้านไหน นำงบบุคลากรไปจ้างคนแบบไหน จะนำงบนโยบายไปทำโครงการอะไร
"มีคนเคยกล่าวไว้ว่าสิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยงมากที่สุดคือการทำอะไรเดิมๆซ้ำๆ และคาดหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง เช่นเดียวกับวิกฤตการศึกษาที่เราเผชิญอยู่ในตอนนี้ มันหนักหนาสาหัสเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ ด้วยการจัดงบประมาณแบบเดิม หรือหัวใจดวงเดิม ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอจะเป็นข้อเสนอที่ไม่จำเป็นต้องรอพรรคก้าวไกลมาเป็นรัฐบาล ถึงจะเริ่มทำได้ แต่รัฐบาลสามารถรับและร่วมกันผ่าตัดหัวใจทางการศึกษา เพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับลูกหลานเราทุกคนให้ดีขึ้น" นายพริษฐ์ กล่าว