"สรรเพชญ" ฉะนายกฯ เพิ่มงบกลาง 16,000 ล้านบาท แต่ให้เอกสารมาอ่านแค่ 7 หน้า จี้รัฐบาลสร้างกลไกถ่วงดุลการใช้งบกลาง เสียดายรัฐมนตรีบางท่านเคยอภิปรายตัดงบกลางสมัยที่แล้ว แต่ตอนนี้เงียบกริบ กลายเป็น “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”
วันที่ 3 ม.ค.67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า ทราบดีว่ารัฐบาลในช่วงรอยต่อก็อาจไม่ได้เป็นคนยกร่างกฎหมายงบประมาณมาตั้งแต่ต้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องรับผิดชอบต่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว อย่างน้อยที่สุดรัฐบาล ชุดปัจจุบัน ก็ได้ดำเนินการปรับปรุง แก้ไขร่างกฎหมายงบประมาณมาแล้ว ก่อนที่จะส่งให้สภาร่วมกันพิจารณาอนุมัติ ซึ่งหลังจากที่ได้อ่านและศึกษาร่างงบประมาณ กลับพบว่าในร่างงบประมาณ กลับไม่เจออะไรใหม่ ตนคาดหวังว่าอย่างน้อยที่สุด การจัดสรรงบประมาณต้องบอกใบ้ได้ว่า ท่านจะพัฒนาประเทศไปในทิศทางใด หรือต้องสะท้อนจุดเด่น หรือนโยบายหลักที่ท่านได้แถลงต่อสภาไปเมื่อไม่นานมานี้อย่างไร
นายสรรเพชญ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณในรอบนี้ ไม่มีความแตกต่างในสาระสำคัญกับปีที่ผ่านๆ มา คล้าย ๆ กับเหล้าเก่าในขวดใหม่ การจัดสรรงบประมาณ ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใด งบประมาณไม่ได้สะท้อนจุดเด่น สะท้อนนโยบายหลัก หรือวาระแห่งชาติ ที่เราให้ความสำคัญ หรือจำเป็นเร่งด่วน ต่อการแก้ไขหรือพัฒนา รัฐบาลจัดสรรงบลงทุนเพียง ร้อยละ 20.6 น้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งจัดสรรงบลงทุน ร้อยละ 21.7 ในขณะที่ปีนี้งบรายจ่ายประจำสูงถึง ร้อยละ 72.8 เมื่อเปรียบเทียบกับงบก้อนอื่นๆ เราต้องการลดภาระงบประมาณประจำลงไปไม่ใช่หรือ เราต้องการการลงทุนในทุกมิติ เพื่อพัฒนาประเทศ สร้างงาน สร้างอาชีพ แต่จากที่ดูตนคิดว่ารัฐบาลจัดสรรงบลงทุนสวนทางกับสิ่งที่ท่านแถลงนโยบายไว้ ขณะที่การจัดสรรงบกลาง เป็นงบประมาณที่อยู่ภายใต้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมามีผู้ที่ได้กล่าวถึง “งบกลาง” ว่า เป็นงบประมาณที่ตรวจสอบได้ยากที่สุด เพราะไม่รู้เลยว่านายกรัฐมนตรีจะเอาไปใช้อะไรบ้าง โดยเฉพาะงบประมาณในหมวดเงินเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งเราหลายคนในที่นี้ก็ไม่อาจทราบได้ว่าความเร่งด่วนนั้น เร่งด่วนจริงหรือไม่ เร่งด่วนมากน้อยเพียงใด ขาดการตรวจสอบจากรัฐสภา และต้องใช้ดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีในการอนุมัติ
"รัฐบาลจัดสรรงบกลาง กว่า 6 แสนล้านบาท แต่มีเอกสารมาให้ดูแค่ 7 หน้า ไม่มีรายละเอียด เมื่อเทียบกับกระทรวงหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณน้อยกว่า แต่มีเนื้อหา มีวัตถุประสงค์การใช้จ่ายงบประมาณที่ชัดเจนมากกว่า เช่น กระทรวง อว. มีงบประมาณ 127,000 ล้าน มีข้อมูลเอกสารงบประมาณถึง 5 เล่ม รัฐบาลให้ความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณให้โปร่งใสมากกว่านี้ เมื่อมาดูงบประมาณที่งบกลาง หรืองบนายกที่ได้รับจัดสรร ปีนี้มีเพิ่มขึ้นกว่า 16,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะบอกว่า งบกลางนี้ เป็นงบที่มาจากคณะรัฐมนตรีชุดที่ผ่านมา แต่ตนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับ Timeline ว่าเมื่อ 14 มีนาคม 2566 ครม. ชุดที่แล้วได้มีมติเห็นชอบงบประมาณ วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท เมื่อเรามาดูที่งบกลาง 11 รายการ 601,745 ล้านบาท และเมื่อวันนี้ที่ท่านเสนอเข้ามา วงเงินงบประมาณ โดยรวม 3.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมา 130,000 ล้านบาท มาดูที่งบกลาง จาก 601,745 เป็น 606,765 ล้านบาท เพิ่มมาอีก 5,000 ล้านบาท ขอถามว่าเพิ่มส่วนนี้มาเพื่ออะไร โดยเฉพาะงบประมาณในส่วนที่เป็นหมวดเพื่อความจำเป็นเร่งด่วน"นายสรรเพชญ กล่าว
นายสรรเพชญ กล่าวอีกว่า ตนจำได้ว่าอย่างน้อยที่สุด มีท่านรัฐมนตรีอย่างน้อยสามท่าน ในรัฐบาลนี้เคยอภิปรายในสภาฯ เมื่อครั้งเป็น สส.ฝ่ายค้าน ในสมัยที่ผ่านมา ว่า จะขอตัดลดงบประมาณในส่วนของงบกลาง ลงถึง 20% เพราะท่านกล่าวว่า งบกลาง เป็นงบที่นายกฯ สามารถเอาไปใช้ได้ตามใจนายกฯ ตนรู้สึกเสียดาย ที่วันนี้ไม่เห็นท่านเสนอให้ตัดงบกลาง ในวันนี้ที่ท่านมีอำนาจมากมายมหาศาล คุมกำลังพลหลายแสนนาย แต่ไม่เห็นท่านออกมาพูดในเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย
“ท่านมีโอกาสแทนที่ท่านจะแก้ไข ท่านไม่ทำ แถมท่านกลับมาทำมากกว่าเดิม พูดอย่างหนึ่ง กลับทำอีกอย่างหนึ่ง เข้าทำนอง “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ เคยสอนผมไว้นะครับ ว่า “คนเช่นนี้ คบไม่ได้ ไม่น่าเชื่อถือ” แล้วผมตั้งข้อสังเกตนะครับว่า งบกลางอาจจะไม่ใช่ตัวเลขนี้ เพราะผมคิดว่าเมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้น พิจารณาในการตัดลดงบประมาณไปแล้ว น่าจะมีมาเติมในส่วนของงบกลางเพิ่มขึ้นอีก อย่างนี้ก็หวานเจี๊ยบน่ะสิครับ” นายสรรเพชญ กล่าว
นายสรรเพชญ ยังมีข้อเสนอถึงรัฐบาลว่า ในการจัดสรรงบกลางให้แยกหมวดหมู่งบ เกี่ยวกับรายจ่ายบุคลากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยหวัด สวัสดิการของข้าราชการ ให้ชัดเจน และให้กระบวนการอนุมัติงบกลางนี้ เมื่อจะมีการใช้งบกลางให้ผ่านสภาฯ เสียก่อน หรือให้มีการรายงานกับสภา รายงานกับฝ่ายนิติบัญญัติว่าเอาไปใช้ทำอะไร หรือหากพิจารณาแล้วว่างบกลางมันเกี่ยวโยงกับความมั่นคง อันไม่ควรเปิดเผย ตนเห็นว่าภายในฝ่ายบริหาร จำเป็นต้องสร้างกลไกตรวจสอบกันเองเป็นอย่างน้อย หากท่านยิ่งเพิ่มงบกลางมากขึ้นเท่าไหร่ เท่ากับว่าท่านกำลังทำลายอำนาจนิติบัญญัติ ทำลายอำนาจการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้นเท่านั้น เพราะดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น โครงการต่าง ๆ ที่นำไปของบกลางจากนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ
"นี่คือสิ่งจะบอกได้ว่า รัฐบาลชุดนี้บริหารบ้านเมืองโดยขาดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรยึดถือเป็นอย่างยิ่งในการบริหารบ้านเมือง รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้แก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำตามที่ได้ประกาศไว้ตอนหาเสียง เพราะหากท่านไม่ทำตามที่ได้หาเสียงไว้ ท่านเองก็จะกลายเป็นรัฐบาลตระบัดสัตย์ ที่มีเพียงวาทะกรรมหลอกลวงประชาชนไปวันๆ เท่านั้นเอง" นายสรรเพชญ กล่าว