ขีดเส้น30วัน! “ผู้ตรวจการแผ่นดิน" จี้ “รัฐ-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”แจงนโยบายแจกเงินดิจิทัล ฮึ่มผิดพร้อมส่งศาล รธน.ชี้ขาด
ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงความคืบหน้าคำร้องภาคประชาชนยื่นให้มีการตรวจสอบนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการสอบถามความชัดเจนของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล และสอบถามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวนโยบายดังกล่าวเพื่อที่จะมาประมวลเข้ากับข้อกฎหมายว่านโยบายดังกล่าวขัดหรือไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างไร ทั้งนี้หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับข้อมูลการชี้แจงของรัฐบาลและด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ ดูข้อกฎหมายว่านโยบายนี้จะเป็นอย่างไร
"เราได้แจ้งขอรายละเอียดไปแล้ว รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติตามนโยบาย โดยอยู่ระหว่างให้หน่วยงานให้ข้อเท็จจริง เพื่อจะได้นำมาประมวลและวิเคราะห์ร่วมกันว่าขัดหรือไม่ขัดกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ"
ส่วนการให้กรอบเวลารัฐบาลในการชี้แจงกลับมายังผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น โดยระเบียบปฏิบัติให้เวลาหน่วยงานชี้แจงภายใน 30 วัน ทั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเรื่องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อกลางเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตามกรอบเวลาการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อได้รับข้อมูลครบถ้วนแล้ว การดูข้อกฎหมายก็คงจะใช้เวลาไม่นาน แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและความเห็นของหน่วยงานที่กำกับดูแลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว รวมถึงข้อเท็จจริงที่จะได้รับ ผู้ตรวจจะพยายามให้ได้ผลการพิจารณาออกมาโดยเร็ว เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบต่อประชาชน
"ขึ้นอยู่กับข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้รับ หากได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงครบถ้วน ก็จะมีการประชุมปรึกษาหารือกัน ก็จะสรุปได้ไม่นาน ถ้าต้องการความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อความรอบคอบเนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ ก็อาจจะเชิญหน่วยงานมาพิจารณาร่วมกัน มาวิเคราะห์ข้อมูล มาวิเคราะห์ข้อกฎหมาย และเมื่อได้รับข้อมูลและดูข้อกฎหมายแล้วพบว่าขัดกับกฎหมาย หรือขัดกับรัฐธรรมนูญก็ต้องส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเรื่องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดทำคำชี้แจงข้อมูลการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2566 โดยจะครบ 30 วันในช่วงเดือนมกราคม 2567 หลังจากนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะมีการประชุมปรึกษาหารือดูข้อมูลและข้อกฎหมายหากพบว่าไม่ขัดก็ยุติเรื่องส่วนหากขัดก็จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยต่อไป