เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 ธ.ค. 2566 ที่ห้องประชุม Grand Hall 201 - 202 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานพิธีเปิดปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ระยะ 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร และผู้แทนภาคประชาชนเข้าร่วมงาน

 

โดยนายกฯ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเป็นประธานในการเปิดปฏิบัติการลดความรุนแรงปัญหายาเสพติดในระยะเวลา 1 ปีตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ขอบคุณกระทรวงยุติธรรมที่ได้จัดงานวันนี้ และขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มาเป็นแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงาน ต้องยอมรับว่าปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน ยังคงมีความรุนแรง ประชาชนยังคงมีข้อกังวลจำนวนมากซึ่งเกิดจากความห่วงใยลูกหลานของพวกเขา ตนได้รับข้อร้องเรียนมาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งจนถึงปัจจุบันและช่วงที่ตนลงพื้นที่หลายจังหวัด จากประสบการณ์ที่ตนได้พบ และเห็นแววตาของพ่อแม่ที่มีลูกหลานติดยาเสพติด ได้ฟังเรื่องร้อนใจของพวกเขาเป็นประสบการณ์ที่น่าเศร้าใจ ทำให้ตนอยากส่งคำอ้อนวอนของพี่น้องประชาชนมาถึงพวกท่านทุกคน ขอให้เอาจริงเอาจังช่วยเหลือลูกหลานของพวกเขา ของพวกเรา ของพวกท่าน ให้พ้นจากยาเสพติดให้ได้

 

นายกฯ กล่าวว่า การจัดการยาเสพติดต้องเริ่มที่แหล่งต้นตอ ซึ่งมีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดในหลายจังหวัด ชายแดนภาคเหนือ และภาคเหนือตอนบน เคลื่อนย้ายมาตามจังหวัดตาก กาญจนบุรี ระนอง รวมถึงต้องมีการจัดการจุดระบาดในหลายจังหวัดที่น่าเป็นห่วง ทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งจังหวัดตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่ประเทศเพื่อนบ้าน กำลังประสบปัญหาสงครามกลางเมืองภายใน การผลิตยาเสพติด เพื่อนำมาซึ่งเงินทอง จะมาทำกิจกรรมทางการเมืองก็ยิ่งแพร่ขยายอย่างมาก ทำให้มีการทะลักเข้ามาของยาเสพติดตามตะเข็บชายแดนมากขึ้น 

 

นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางด้านจิตเวชจากการเสพยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 30 จังหวัดที่มีสถานการณ์ความรุนแรงทางด้านจิตเวชจากยาเสพติด รัฐบาลจึงกำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด โดยให้เร่งลดความรุนแรงจากภัยยาเสพติดอย่างจริงจัง ตามแผนปฏิบัติการที่อนุมัติไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสกัดยาตามแนวชายแดน การจับกุมและการยึดทรัพย์ผู้ค้า จัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และเปลี่ยนผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย เข้ารับการบำบัดลดความรุนแรง จากปัญหาจิตเวชจากยาเสพติดโดยเน้นหนัก 30 จังหวัดเป็นเป้าหมายแรกทนอกจากนี้ยังมีการเผาทำลายยาเสพติดของกลางมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 340 ตัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนทั้งประเทศ ว่าลูกหลานของพวกเราทุกคนจะไม่ถูกยาเสพติดกัดกินอีกต่อไป 

 

นายกฯ กล่าวว่า โอกาสเปิดปฏิบัติการยาเสพติดและมีผู้บริหารระดับสำคัญของประเทศ ตนขอมอบนโยบาย 10 ข้อซึ่งจะเป็นแนวทางลดปัญหายาเสพติดดังนี้ 1. ลดความรุนแรงจากปัญหาผู้ที่มีอาการจิตเวชจากยาเสพติด 2. ลดจำนวนผู้เสพยาเสพติดด้วยการบำบัดรักษาและต่อยอดการแก้ไขปัญหาผู้ผ่านการบำบัดอย่างครบวงจร 3. ดำเนินนโยบายร่วมมือกับต่างประเทศเชิงรุก และเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดนให้ครอบคลุม 4. ยกระดับการปราบปรามทำลายโครงสร้างเครือข่าย กลุ่มการค้ายาเสพติด ด้วยการตัดวงจรทางการเงินและการริบทรัพย์สิน 5. ป้องกันยาเสพติดไม่ให้เกิดผู้เสพยาเสพติดรายใหม่ 6.ปลุกประชาชนให้ตื่นตัวและเข้าร่วมการแก้ไขปัญหายาเสพติด 7. สร้างนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดใหม่ ๆ 8. กำหนดเป้าหมาย และดัชนีชี้วัดความสำเร็จ หรือKPI  ลดปัญหายาเสพติดภายใน 4 ปีตามนโยบายเชิงรุกของรัฐบาล 

 

9. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีบทบาทสนับสนุนบางอย่างเท่านั้น ซึ่งยังไม่เต็มศักยภาพที่มี โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งครั้งนี้ ขอความร่วมมือองค์กรองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการคัดกรองบำบัดฟื้นฟู การสนับสนุนอาชีพแก่ผู้การผ่านบำบัด

 

และ 10. การบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพในทุกระดับโดยในระดับส่วนกลางให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหมกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอีกหลายหน่วยงาน ผนึกกำลังร่วมกันประสานงานในส่วนกลางให้เป็นเอกภาพ ผ่านศูนย์อำนวยการป้องกันปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) ที่มีผู้แทนต่างๆ อำนวยการและขับเคลื่อนอยู่แล้ว 

โดยจัดตั้งกลไกการอำนวยการและขับเคลื่อนในพื้นที่ในระดับจังหวัดให้มี 5 ภาคีร่วมได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กอ.รมน.จังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นกลไกชุดเล็กในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของจังหวัดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ให้มีการกำกับติดตามสั่งการอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ รวมถึงให้กลไกทุกระดับเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายและ KPI ในปีแรกให้ได้

 

นายกฯ กล่าวว่า จากความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลและทุกภาคส่วน จะมีส่วนส่งผลให้ปัญหายาเสพติด ลดความรุนแรงลงตามเป้าหมายทำให้ประชาชนมีความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย คืนลูกหลานให้สู่ครอบครัว ทำให้ผู้เสพกลายเป็นผู้ป่วย ทำให้ชุมชนปลอดจากปัญหายาเสพติด ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์สูงสุดของรัฐบาล และประชาชนคนไทยทั้งประเทศ