นายกฯยันทำงานเต็มที่ไม่เหน็ดเหนื่อย ย้ำดิจิทัลวอลเล็ตตามไทม์ไลน์เดิมพ.ค.ปีหน้า ลั่นปมทักษิณนอนนอกคุก ตามระเบียบ ลั่นไม่เอื้อประโยชน์ให้ใคร ไม่หนักใจฝ่ายค้านขู่เปิดสภาฯ ซักฟอก มั่นใจรมต.ทุกคนตอบได้ แย้มปรับครม.ต้องรอเวลาเหมาะสม บอกคุยปชป.เป็นเรื่องอนาคต ด้านโพลชี้ประชาชนยังสนับสนุนพิธาเป็นนายกฯ
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์รายการ เนชั่นทันข่าวเช้า ทางช่องเนชั่น ทีวี ถึงกรณีการรักษาตัวในโรงพยาบาลครบ 120 วัน ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก รวมถึงเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล โดยมีกระแสข่าวว่านำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือ ว่า ยังมีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมถึงผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเข้ามาด้วย มีการพูดคุยกันในหลายเรื่องที่เราติดตามกันอยู่ เป็นคดีที่พี่น้องประชาชนให้ความสนใจ ประเด็นของนายทักษิณอย่างที่ตนได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ว่าขอให้เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์กับโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมั่นใจว่าเขาไม่ได้ออกกฎระเบียบมาเพื่อดูแลคนๆ เดียว ต้องคิดถึงส่วนรวมเป็นหลัก รวมถึงเชื่อว่าทั้งสองหน่วยงานจะยึดถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย
เมื่อถามถึงความพยายามเชื่อมโยงประเด็นของนายทักษิณมาเป็นเรื่องของการเมือง จะส่งผลต่อการกดดันทางการเมืองในปีหน้าด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ทุกเรื่องก็คงเป็นประเด็นการเมืองทั้งหมดหากจะโยงกันจริงๆ แต่เราก็ยึดมั่นในกฎระเบียบที่ไม่ได้ทำมาเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นไปตามกฎแล้วทุกคนมีสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถูกกล่าวโทษหรือผู้ที่อยู่ในโรงพยาบาลตำรวจเอง ท่านเองก็เป็นนายกรัฐมนตรีมาสองสมัย และเป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติมา ท่านก็ได้รับการดูแล แต่เชื่อทุกอย่างเป็นไปตามกฎกติกาที่ได้วางกันไว้ ส่วนเรื่องจะมาเป็นประเด็นทางการเมืองมากน้อยขนาดไหนอย่างไร ตนคงไม่ไปทำนายส่วนนั้นได้ มีปัญหาก็ต้องแก้ไขกันไป มีอะไรไม่กระจ่างก็ต้องชี้แจงกันไป แต่เรายึดมั่นในกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว
นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองฝ่ายค้านเตรียมขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงปีหน้า ว่า การตรวจสอบเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านอยู่แล้ว หน้าที่เราคือทำงาน แต่หากมีการสอบถามมาหรือถึงขั้นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเราก็มีหน้าที่ต้องตอบ และยืนยันไม่มีความหนักใจ เราทำงานเอาประชาชนเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว เชื่อว่ารัฐมนตรีทุกท่านรวมถึงตน ตอบอยู่แล้วถึงเรื่องที่เราทำกันมา
สำหรับกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์เตรียมเข้าร่วมรัฐบาลนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเปราะบาง พรรคร่วมรัฐบาลเราทำงานกันมาอย่างเต็มที่ เรามีภารกิจใหญ่ที่เราต้องยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ตนเชื่อว่าทุกคนทำงานเต็มที่ ส่วนเรื่องจะปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่นั้น คงต้องดูเรื่องของความเหมาะสม ไม่อยากให้รัฐมนตรีทุกท่านมีความไม่สบายใจ ซึ่งตอนนี้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี มีอะไรเราก็คุยกัน
เมื่อถามถึงเรื่องพรรคการเมืองใหม่ที่จะเข้ามาร่วมรัฐบาล นายเศรษฐา กล่าวว่า ปัจจุบันเรามี 314 เสียง อยู่แล้ว แต่ก็เข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์เองก็อาจจะมาช่วยโหวตตนในช่วงการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งอาจจะมีเรื่องที่เราพูดคุยกันได้บ้างก็ขอให้เป็นเรื่องของอนาคต แต่วันนี้เรามี 314 เสียงแล้ว ซึ่ง 314 เสียง ถือว่ามีเสถียรภาพ และทุกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเราคุยกันได้ด้วยดี เรื่องของนโยบายก็ได้พูดคุยกันอยู่ตลอด อาจมีเห็นตรงเห็นต่างกันบ้างเป็นเรื่องปกติ เอาความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง อีกทั้งรัฐมนตรีหลายท่านก็คุ้นเคยกันดี ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน
เมื่อถามถึงนโยบายรัฐบาลที่บางเรื่องมีความเห็นแตกต่างกับรัฐมนตรีต่างพรรคการเมืองเช่นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกัน และหากถ้าพูดถึงกระทรวงแรงงาน ก็น่าเห็นใจ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ท่านเองก็ไม่ได้มีอำนาจไปแทรกแซงไตรภาคีได้ แต่ท่านเห็นด้วยกับตนว่ามันขึ้นน้อยเกินไป
ผมไม่มีความสุข และไม่เห็นด้วยที่ขึ้นมาเพียงเท่านี้ เชื่อว่าท่านรัฐมนตรีก็คงไม่เห็นด้วย แต่ท่านก็พยายามช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อไป
นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงภาพรวมการทำงานของรัฐบาลในปี 2566 ว่า หากให้ประเมินแบบการให้คะแนนตนคงไม่ให้ เพราะเป็นหน้าที่คนอื่นที่ต้องให้ แต่ว่าตั้งแต่ที่เข้ามารับตำแหน่งนั้น เราก็ทำงานอย่างเต็มที่ รัฐบาลเราให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เรื่องของการลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนที่ออกมาก่อนหน้าที่ทั้ง การลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมัน พักชำระหนี้เกษตรกร เป็นต้น อีกทั้งยังมีเรื่องของนโยบายภาพรวมในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญด้วย
เมื่อถามผลประเมินที่บางฝ่ายออกมาให้คะแนนนายกรัฐมนตรีเข้าเกณฑ์สอบผ่าน สะท้อนถึงการทำงานหนักด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา ร้องโอ้ย ก่อนบอกว่าหากเราทำงานหนักแล้วพี่น้องประชาชนยังเดือดร้อน ลงไปพื้นที่ยังเห็น ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เชื่อว่ารัฐมนตรีทุกท่านทำเต็มที่ ไม่ใช่แค่ตนทำงานคนเดียว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันหมด อีกทั้งปัญหาต่างๆ ก็ต้องค่อยๆ แก้กันไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักการเมืองอยู่แล้วที่อาสามา เข้ามาตรงนี้ทราบอยู่แล้วว่าต้องทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย นายเศรษฐา กล่าวและว่า ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ยังคงเป็นไทม์ไลน์เดิมคือพฤษภาคมปีหน้า
วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาสปี 2566" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-18 ธ.ค.66 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง
เกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 39.40 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ มีความเป็นผู้นำ เป็นคนรุ่นใหม่ วิสัยทัศน์ดี บุคลิกดี และเข้าถึงประชาชน อันดับ 2 ร้อยละ 22.35 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) เพราะ มีความรู้ความสามารถ ตรงไปตรงมา และชื่นชอบพรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 18.60 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 5.75 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบพรรคและนโยบายพรรคเพื่อไทย และชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร
อันดับ 5 ร้อยละ 2.40 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะ มีความรู้ความสามารถ มีความน่าเชื่อถือ ตรงไปตรงมา และมีความซื่อสัตย์สุจริต อันดับ 6 ร้อยละ 1.70 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ตรงไปตรงมา และชื่นชอบผลงานที่ผ่านมา อันดับ 7 ร้อยละ 1.65 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ มีประสบการณ์ด้านการบริหารประเทศ และต้องการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาบริหารประเทศ ร้อยละ 3.90 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) นายชัยธวัช ตุลาธน (พรรคก้าวไกล) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์) นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (พรรคประชาธิปัตย์) นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนากล้า) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ) นายเฉลิม อยู่บำรุง (พรรคเพื่อไทย) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์) และ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ และร้อยละ 4.25 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 44.05 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 2 ร้อยละ 24.05 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 16.10 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 3.60 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 3.20 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 6 ร้อยละ 1.75 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 7 ร้อยละ 1.45 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 1.85 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคไทยสร้างไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อไทยรวมพลัง พรรคประชาชาติ พรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคเสรีรวมไทย และร้อยละ 3.95 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.60 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.95 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.45 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.75 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.70 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก
ตัวอย่าง ร้อยละ 48.10 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.90 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.80 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.95 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.65 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.70 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.10 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.20 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.70 นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 33.25 สถานภาพโสด ร้อยละ 64.80 สมรส และร้อยละ 1.95 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 25.15 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 36.25 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.45 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.05 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.10 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
ตัวอย่าง ร้อยละ 9.10 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.55 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.45 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.85 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.85 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.55 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 4.65 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 21.40 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 21.05 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 29.40 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.95 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.65 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.85 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.70 ไม่ระบุรายได้