เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลการศึกษา เรื่อง “ความหวัง กับ ความกลัว ปีหน้า” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพในเขตกรุงเทพมหานครอายุ 18 ปีขึ้นไป ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวน 1,134 ตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 - 23 ธันวาคม พ.ศ.2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 พบว่า
การแก้ไขหนี้ในระบบ เป็นความหวังจะได้จาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 51.7 , รองลงมาคือแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 51.3 , แจกเงินหมื่นร้อยละ 50.6 , แก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ คอลเซนเตอร์ ร้อยละ 50.2 , แก้ไขหนี้นอกระบบ ร้อยละ 49.8 และ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ร้อยละ 42.2 ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึง ความฝันอยากได้ของประชาชนจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบว่า ความฝันอยากได้รถยนต์คันใหม่ มาเป็นอันดับที่ 1 คือ ร้อยละ 45.3 , รองลงมาคือ อยากได้สิทธิประกันสังคม สถานพยาบาลแห่งใหม่ ร้อยละ 43.8 , อยากได้ขึ้นเงินเดือน ร้อยละ 43.3 , อยากได้บ้านหลังใหม่ ร้อยละ 42.8 , อยากมีงานทำ มีรายได้เสริม ร้อยละ 35.1 , อยากได้การศึกษาใหม่ ร้อยละ 25.7 , อยากเปลี่ยนงานใหม่ ร้อยละ 16.8 และอยากได้คนรักใหม่ ร้อยละ 8.0 ตามลำดับ ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.3 มีความหวังที่จะก้าวต่อไปในปีหน้า ในขณะที่ร้อยละ 25.7 มีความกลัว
รายงานของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ระบุว่า รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อาจจะรณรงค์ให้ปีใหม่ คือ ปี พ.ศ. 2567 ที่จะมาถึงนี้ เป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยและประชาชนคนไทยทั้งประเทศสู่ความเป็นประเทศดิจิทัล และประชาชนคนไอทีที่นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเดือดร้อนหนี้นอกระบบ , แก้ไขปัญหายาเสพติด , แจกเงินหมื่น , แก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ คอลเซนเตอร์ , แก้ไขหนี้นอกระบบ และ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยกลไกเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านทางแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ (Applications) และโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (IT Infrastructure) และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Data Analytics) เกาะติดการแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนทุกมิติทั้งระบบ จะทำให้ได้ข้อมูลการตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำ คาดการณ์อนาคตแห่งการเปลี่ยนแปลง และกำกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ได้ และจะได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนเพราะประชาชนเมื่อถูกถามวันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ตอบว่า มีความหวังจะก้าวต่อไปในปีหน้า มากกว่า กลุ่มประชาชนที่กลัวจะไปต่อ