หอการค้าฯเผยปีใหม่ประชาชนแห่จับจ่ายคึกคัก! คาดเงินสะพัดกว่าแสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายต่อคน  6 พันบาท ขยายตัว 2.8% สูงสุดรอบ 4 ปี 

     
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.66 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ แถลงข่าวโพลพฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่สำรวจระหว่างวันที่ 10 - 16 ธ.ค.66 สำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศไทยจำนวน 1,258 ตัวอย่าง โดยได้ประเมินการใช้จ่ายมีมูลค่า 105,924.21 ล้านบาท ขยายตัว 2.8%สูงสุดในรอบ 4 ปี นับเป็นครั้งที่ 2 ที่มีเงินสะพัดเกินแสนล้านบาท
    
 ขณะเดียวกัน พบว่าประชาชนมีการจับจ่ายในช่วงเทศกาลอย่างคึกคักและเป็นกลับมาจับจ่ายที่มีความสุขในรอบ 4 ปี และจะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นจากมาตรการที่รัฐบาลออกมาเป็นของขวัญปีใหม่ในหลายกิจกรรม ทำให้ประชาชนมีความสนใจที่จะออกมาท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยในช่วงวันหยุดยาวปีใหม่นี้ โดยต่อคนจะมีการใช้จ่ายช่วงปีใหม่นี้จะอยู่ที่ 6,000 บาท และท่องเที่ยวต่างประเทศมากกว่า 35,000 บาทต่อคน ทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในช่วงเทศกาลปีใหม่กว่า 105,924.21 ล้านบาท แยกเป็นการใช้จ่ายรวมด้านเลี้ยงสังสรรค์ ทำบุญและอุปโภคและบริโภคกว่า 19,418 ล้านบาท ซื้อสินค้าคงทนและสินค้าฟุ่มเฟือยกว่า 5,000 ล้านบาท ไปท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศกว่า 60,000 ล้านบาทเป็นต้น
    
 นอกจากนี้ คำอวยพรที่ต้องการเห็นคือ ขอให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรรามธิดา ทรงหายจากอาการประชวรในเร็ววัน และขอให้พระราชินีในรัชกาลที่ 9 และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง พร้อมทั้งขอให้ตัวเองมีรายได้ดีขึ้น และขอให้เศรษฐกิจและค่าครองชีพลดลง และอื่นๆเป็นต้น
    
 ทั้งนี้ภาพรวมเทศกาลปีใหม่นี้ถือว่าคึกคัก ประชาชนจะออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น แต่ยังเป็นการจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวัง แม้ในปีหน้าหลายสำนักคาดการณ์จีดีพีไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยจะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 % แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยจะเชื่อมากนัก เนื่องจากยังมองว่าปัจจัยภายนอกเช่น เศรษฐกิจโลก สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสยังไม่รู้ว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง แม้เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเติบโตขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือ การแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบของรัฐบาลจะสามารถแก้ไขได้มากน้อยแค่ไหน