เส้นทางรอดเกษตรกรแปลงใหญ่ผู้ปลูกหมากมะพร้าว หลังสถานการณ์โควิด 19 ระบาดผ่านพ้นไป ได้ทิ้งร่องรอยความเสียหายทางด้านอาชีพไว้ให้แก่เกษตรกรชาวสวน ผู้ปลูกพืชดั้งเดิมของชาวแปดริ้ว ทำการส่งออกหดหายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หวนกลับ ผลผลิตในแปลงเหลือล้นหมดมูลค่าแทบไร้ราคา ต้องปรับเปลี่ยนนำมาแปรูปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมให้เกิดการนำสิ่งที่มีอยู่ทุกชิ้นส่วนมาเป็นวัตถุดิบผลิตเป็นสินค้าสร้างรายได้ใหม่ให้ชุมชนควบคู่กับการอนุรักษ์

 “เดชเดชา ชุนรัตน์” ผู้นำกลุ่มในฐานะประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่หมากมะพร้าวบางตีนเป็ด วัย 64 ปี ชาวบ้านหมู่ 10 ต.บางตีนเป็ด อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ผู้มีความมุ่งมั่นที่จะคงอนุรักษ์อาชีพดั้งเดิมมาแต่โบราณของชุมชนให้ยังคงมีอยู่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ต่อไป จึงได้นำพาสมาชิกในกลุ่มจำนวน 31 ราย มุ่งมั่นฟันฝ่าอุปสรรคและวิกฤตการณ์รอบด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของราคาผลผลิตที่ตกต่ำ จนทำให้สินค้าที่เคยผลิตส่งออกไปขายยังต่างแดนทั้งอินเดีย เมียนมา และไต้หวัน ไร้ซึ่งมูลค่ามืดมนต์ลงด้ายราคาที่ตกต่ำลงอย่างสุดขีด

เขาเล่าถึงเรื่องราวในอดีตให้ฟังว่า  ที่ผ่านมาก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 นั้น ผลผลิตจากสวน ที่ถูกแปรรูปเป็นหมากตากแห้ง ได้ส่งออกไปขายถึงยังประเทศอินเดีย เมียนมา ส่วนหมากอ่อนนั้นส่งไปยังไต้หวัน ทำให้มีมูลค่ามากถึงปีละหลายร้อยล้านบาท แต่หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด 19 ระบาดไปทั่วโลก ได้ทำให้ผลผลิตภายในสวนของเกษตรกรผู้ปลูกหมากและมะพร้าวขายไม่ได้เลย

ทำให้ผลผลิตราคาตกต่ำมากถึงขีดสุด ราคาหมากสดเหลือเพียง กก.ละ 2 บาท ขณะที่หมากตากแห้งนั้นไม่มีใครมารับซื้อเลยแม้แต่รายเดียว เพราะยังส่งออกไม่ได้ แม้ปัจจุบันสถานการณ์ระบาดของโรคจะคลี่คลายลงจนแทบหมดไปแล้วก็ตาม จึงทำให้เกิดการร่วมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหา นับแต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ด้วยการนำผลผลิตหมากแห้งมาทำเป็นสีย้อมผ้า ผลิตเป็นสินค้าผ้ามัดย้อมออกจำหน่าย โดยมีทั้งเสื้อ หมวก และกระเป๋าถือรวมถึงถุงผ้า

นอกจากนี้ยังได้นำกาบหมากที่เคยร่วงหล่นทิ้งอยู่ภายในสวนตามโคนต้น มาใช้ประโยชน์ด้วยการนำมาแปรรูป เป็นสินค้าชุมชนได้อย่างหลากหลาย ทั้งนำมาผลิตทำเป็นจานชามกาบหมาก นำกาบหมากมาทำเป็นเครื่องจักรสาน ทั้งกระเป๋ากาบหมาก และรองเท้ากาบหมาก จากนั้นได้นำไปออกร้านร่วมกับการจัดงานแสดงสินค้าของทางราชการ เช่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ไปจำหน่ายในสถานที่ต่างๆ

โดยมีทางเกษตร อ.เมืองฉะเชิงเทรา เข้ามาช่วยสนับสนุนคอยประสานงานกับทางหน่วยงานภาครัฐ ให้ได้รับความสะดวก เช่น การผลักดันให้เกิดการพัฒนาสินค้าเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน การจดทะเบียนกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน (เมื่อวันที่ 1 มี.ค.66 ที่ผ่านมา) โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมแล้ว 31 ราย มีเนื้อที่การเพาะปลูก 233 ไร่ โดยกลุ่มมีผลผลิตหมากออกสู่ตลาดประมาณ 100 ตันต่อปี และผลผลิตมะพร้าว 10 ตันต่อปี เมื่อรวมกันเป็นกลุ่มแล้ว ทำให้มีอำนาจต่อรองในการจำหน่ายผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น

นอกจากนี้ทางเกษตรอำเภอยังได้เข้ามาช่วยดูแล ตรวจสภาพดินและแนะนำการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับดินในแต่ละแปลงว่าขาดแร่ธาตุที่จำเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ย โดยเป็นการเติมเฉพาะแร่ธาตุบางชนิดในดินที่ขาดแคลนลงไปได้อย่างแม่นยำตรงจุด ตลอดจนการเข้ามาส่งเสริมอบรมการทำปุ๋ยหมัก และปุ๋ยชีวภาพให้ใช้กันในสวนด้วย

ในการแปรรูปกาบหมากนั้น ได้รับการช่วยเหลือจากทางสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้ให้ยืมเครื่องจักรกล เครื่องปั้มขึ้นรูปกาบหมากให้เป็นจานชามที่ทำด้วยกาบหมาก ส่วนการทำผ้ามัดย้อมนั้น ทาง อบต.บางตีนเป็ด ได้เข้ามาช่วยในการประสานกับทาง กศน. อ,เมืองฉะเชิงเทรา ที่เข้ามาอบรมให้ความรู้ เกี่ยวกับการมัดย้อมผ้า ซึ่งในอนาคตนั้น ทาง อบต.บางตีนเป็ด จะได้จัดสรรหาเงินงบประมาณเข้ามาช่วยจัดซื้อหาเครื่องจักร เครื่องปั้มขึ้นรูปกาบหมากให้ต่อไป ตลอดจนการสร้างโรงเรือนให้เป็นที่ทำการกลุ่มอย่างถาวรให้ด้วย

นอกจากนี้ทาง มรภ.ราชภัฎราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทา ยังได้เข้ามามีส่วนร่วมในสอนเกี่ยวกับวิธีการทำสีจากแกนเมล็ดของหมากแห้ง เพื่อให้สีออกมาตรงตามต้องการ และฝังจับติดแน่นอยู่ในเนื้อผ้าได้อย่างคงทนถาวรหรือติดอยู่กับวัตถุได้นาน

จากการนำสินค้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปแนวใหม่ที่ดูแปลกตา เช่น ชามกาบหมากที่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน ไปออกบูธร่วมกับทางหน่วยงานราชการแล้ว ปรากฏว่าได้รับความสนใจตอบรับจากผู้ซื้อเป็นอย่างดี แต่ยังคงมีปัญหาทางการตลาดอยู่ เนื่องจากสินค้ายังไม่ได้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางแพร่หลาย และกระจายออกไปสู่สังคมเป็นวงกว้างมากนัก

ขณะนี้ชาวบ้านจึงกำลังหาช่องทางในการทำตลาดทางออนไลน์ ผ่านทางสื่อโซเชียล ด้วยการไลฟ์สดขายสินค้า เพื่อเป็นช่องทางใหม่ในการจำหน่ายสินค้า ให้กระจายออกไปยังโลกที่กว้างไกลมากขึ้น คือ การเปิดเพจเฟชบุ๊ก “แลนด์หมาก” ของกลุ่มขึ้นมา และในส่วนของมะพร้าวที่ปลูกควบคู่กันในสวนหมากนั้น ยังคงเน้นการขายเป็นมะพร้าวแบบผลสดจากสวน โดยจะมีการแปรรูปอยู่บ้างเป็นน้ำมะพร้าวสด ผนึกใส่แก้วออกไปจำหน่าย เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อีกทางหนึ่งด้วย นายเดชเดชา ระบุ 

ขณะที่ นายดนัย ปัญจพิทยากุล เกษตร จ.ฉะเชิงเทรา ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของเกษตรกรผู้ปลูกหมากและมะพร้าวในภาพรวมว่า ยังคงมีเกษตรกรประกอบอาชีพนี้อยู่จำนวน 684 ราย ส่วนใหญ่อยู่ใน 3 อำเภอ คือ อ.คลองเขื่อน บางคล้า และเมืองฉะเชิงเทรา บนเนื้อที่ประมาณ 4,741 ไร่ มีผลผลิตออกมามากถึง 3,195 ตันต่อปี คิดเป็นรายได้กว่า 220 ล้านบาท และมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวจำนวน 9,885 ไร่จากเกษตรกรจำนวน 3,841 ราย สามารถผลิตมะพร้าวได้ 7,681 ตันต่อปีคิดเป็นรายได้ 76.81 ล้านบาท

โดยมีเป้าหมายที่ต้องการจะส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร เช่นเดียวกับกลุ่มแปลงใหญ่บางตีนเป็ด ในการแก้ไขปัญหาด้านราคาผลผลิตที่ตกต่ำ และยังทำให้มีอำนาจต่อรองทางการตลาด สามารถยกระดับราคาผลผลิตให้สูงขึ้นได้ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกหมากแปลงใหญ่ของทางกลุ่มบางตีนเป็ดนั้น ถือเป็นกลุ่มแรกใน จ.ฉะเชิงเทรา ที่เริ่มมีการรวมกลุ่มกันขึ้น โดยสามารถนำมาเป็นแบบอย่างให้เกิดการเรียนรู้สู่เกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ได้ นายดนัย ระบุ

การรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ นับเป็นการรวมพลังเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองทางการตลาด รวมทั้งยังเป็นการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เห็นถึงความสามัคคี ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถานศึกษา และคนในชุมชน ที่ได้ร่วมกันสร้างอาชีพใหม่ขึ้นมา เป็นการต่อลมหายใจให้แก่กลุ่มอาชีพดั้งเดิมนับแต่บรรพบุรุษของชาวแปดริ้วให้สามารถอยู่ต่อไปได้ หากการตลาดในอนาคตถูกเปิดกว้างมากขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัดเมื่อใด ลมหายใจสุดท้ายของ “กลุ่มแลนด์หมาก” จะได้ก้าวขึ้นไปสู่ตลาดต่างประเทศอีกครั้ง