"ศุภัช ศุภชลาศัย" กรรมการ กสทช.แจงข่าวคุกคามทางเพศต่อบุคลากรหญิง
รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการพยายามคุกคามทางเพศต่อบุคลากรหญิงท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการประจำในส่วนหน้าห้องของผม ขอชี้แจงดังนี้
1.ผมขอประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนในการต่อต้านและประณามการใช้ความรุนแรงและการคุกคามผู้อื่นในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกับผู้หญิง
2.อย่างไรก็ตาม การดำเนินการใดๆในเรื่องนี้ ต้องกระทำด้วยความรอบคอบระมัดระวังเนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกระทบถึงจิตใจของผู้เสียหาย ทั้งต้องคำนึงถึงความประสงค์ของผู้เสียหายเป็นสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา ผมได้ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายและอำนวยความสะดวกในทุกๆด้าน รวมถึงการดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งในขณะที่เรื่องนี้ได้เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว
3.ทั้งนี้ที่ผ่านมา ผมได้ดำเนินการขั้นสูงสุดตามอำนาจหน้าที่ที่ผมมี เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และผมขอยืนยันจุดยืนในการสนับสนุน อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือผู้เสียหายในทุกด้านตามอำนาจหน้าที่และเต็มความสามารถที่ผมมีต่อไป
4.ต่อข้อกรณีที่ไม่ได้ออกมาพูดก่อนหน้านี้ เนื่องจากดังที่กล่าวข้างต้นการดำเนินการใดต้องกระทำด้วยความรอบคอบระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลกระทบทางจิตใจและการละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคลากรท่านดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ ปรากฏในการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันของกลุ่มพนักงานสำนักงาน กสทช.เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวโดยยังไม่ปรากฏทราบข้อเท็จจริงที่แน่ชัด หากแต่มีการเผยแพร่ชื่อและใบหน้าของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวและส่งผลกระทบกระเทือนทางจิตใจต่อผู้เสียหายเป็นอย่างมาก
5.การออกมาพูดในครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องและวิงวอนให้ทุกท่านเคารพความเป็นส่วนตัวและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคลากรท่านดังกล่าว เนื่องจากได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างสูง ขอให้ทุกท่านในสำนักงาน กสทช. ตลอดจนสื่อมวลชน และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ อันอาจเป็นการซ้ำเติมความรู้สึกของผู้ถูกกระทำด้วยวิธีการใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยชื่อ ภาพ อัตลักษณ์ หรือข้อมูลใดของผู้เสียหายในกรณีดังกล่าว
6.ในอนาคตทาง กสทช. และสำนักงาน กสทช. จะร่วมกันปรับปรุงนโยบายและเพิ่มแนวทางและมาตรการในการป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวให้ดีและรัดกุมยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยคำนึงถึงหลักการการคุ้มครองผู้ถูกกระทำ การป้องกันการคุกคามหรือล่วงละเมิดในอนาคต (Protection) การไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล (Impunity) การให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย (Fairness) และความซื่อตรงขององค์กร (Organizational Integrity) เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่สร้างหลักประกันว่า ทุกคนไม่ว่าจะเป็น กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้างทุกระดับตลอดจนผู้ปฏิบัติงาน จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมทั้งในฐานะของผู้ถูกล่วงละเมิด ผู้ถูกกล่าวหา พยานและผู้พบเห็นเหตุการณ์หากเกิดการล่วงละเมิดหรือการคุกคามขึ้น