"วันชัย" ตอกย้ำยังไม่ถึงเวลา "แพทางธาร" นั่งนายกฯ ให้คะแนน"เศรษฐา"บริหารประเทศ 4 เต็ม 10 เหตุไม่ตรงเป้า แนะปรับวิธีทำงานใหม่ ลั่นเร่งแก้ปัญหาปากท้อง-เศรษฐกิจก่อนแก้"รัฐธรรมนูญ" ด้าน "วิปวุฒิ" ให้ส.ว.ตอบแบบสอบถาประชามติแก้ไขรธน.อิสระ รับยากให้ผ่านประชามติถึง 3 ครั้ง ขณะที่"พรเพชร"บอกยังไม่เห็นไทม์ไลน์แก้รธน. ชี้ต้องได้ข้อยุติ ไม่ใช่พูดเรื่อยเปื่อย
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.66 นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกระแสการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจาก นายเศรษฐา ทวีสิน เป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่า ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นสุดวิสัยจริงๆ เชื่อว่ายังไงนายเศรษฐาก็ยังเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะจังหวะที่น.ส.แพทองธารไม่ใช่ตอนนี้แน่นอน แล้วไม่มีเหตุผลจะต้องมาตอนนี้ ถ้ามาได้ เขาเอามาตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นเวลา โอกาสให้กับนายเศรษฐา แต่ยังไม่ใช่น.ส.แพทองธาร ไม่ว่าจะมีการกดดัน ผลักดัน แต่จะอยู่ได้ดีมีความสุข และสามารถทำงานได้ดีหรือไม่ ต้องปรับวิธีคิด วิธีทำงาน ปรับกระบวนทัศน์เสียใหม่ ถ้าทำอย่างที่ทำมา 3 เดือน นายเศรษฐาอาจจะอยู่ยาก แต่อาจจะมีเหตุจำเป็นที่ถึงเวลาประชาชนบอกว่าต้องเปลี่ยน ไม่ใช่เปลี่ยนว่าตัวนายเศรษฐาเองอยู่ไม่ได้ แต่เพราะผลงานไม่เป็นที่ประจักษ์ ไม่ต้องตาประชาชน เพราะเหตุผลที่จะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมาจาก 1.พรรคร่วมรัฐบาลขัดแย้งแตกแยก ซึ่งตอนนี้มองว่ายังยาก 2. รัฐบาลโกงกินทุจริต คอรัปชั่น ซึ่งถ้าใครขืนทำก็หายนะ 3.ผลงานรัฐบาล มีปรากฏหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า จังหวะที่เหมาะสมสำหรับน.ส.แพทองธารมาเป็นนายกรัฐมนตรีคือช่วงไหนนั้น นายวันชัย กล่าวว่า ให้ติดตามกันต่อไป แต่ไม่น่าจะใช่ช่วงนี้ คิดว่าอาจจะเป็นปลายๆ สมัยของรัฐบาล ใกล้เลือกตั้ง อาจจะเป็นไปได้ แต่ตอนนี้สถานการณ์ไม่เอื้อที่จะเปลี่ยน ส่วนผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมาถ้าได้คะแนนเต็ม 10 ให้เพียง 4 คะแนน เพราะได้แต่ภาพอีเวนท์ การลงพื้นที่ ได้แต่ฉาบฉวย แต่ผลงานชิ้นเป็นอันที่จับต้องได้ยังไม่มี ขณะที่การประสานความร่วมมือของนายกรัฐมนตรี ทั้งภาคราชการ และคณะรัฐมนตรี ยังน้อยเกินไป เพราะอาจชินกับการเป็นผู้บริหารบริษัทภาคเอกชน และยังไม่ทราบว่าการบริหารราชการแผ่นดินมีกลไกกฎหมาย ข้อบังคับ จะทำเหมือนบริษัทขายบ้านจัดสรรไม่ได้
เมื่อถามถึงการขอลาพักร้อนระหว่างวันที่ 19-22 ธ.ค. ของนายกรัฐมนตรี นายวันชัย กล่าวว่า เปรียบเหมือนมวยที่คนต่อยหนัก ต่อยตลอด แต่ต่อยไม่ตรงเป้า มันวืดไปหมด ตนมองว่านายกรัฐมนตรีรำมวยสวย ไหว้คนสวยงาม ลงพื้นที่เก่ง แต่ชกไม่ตรงเป้า ไม่ได้คะแนน เสียดาย ส่วนเหตุผลที่พักร้อนเวลานี้ นายกรัฐมนตรีคงจะหัวร้อนมานาน จึงอยากจะพักร้อนบ้าง นายวันชัย ยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เคยโพสต์ว่าไม่ควรรีบร้อน ว่า เรื่องแก้รัฐธรรมนูญแม้จะไม่แก้วันนี้เดี๋ยวนี้ เดือนนี้ เดือนหน้า 1 ปี หรือ 3 ปี ประชาชนไม่ตาย ไม่มีใครเดือดร้อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่นอน ยืนยันว่าเมื่อถึงเดือนพ.ค.67 ส.ว.ชุดนี้ก็ไปแล้ว ฉะนั้น ไม่มีเหตุผลอะไร ที่จะต้องเร่งรีบ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตย เป็นไปตามสภาพของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพียงแค่เป็นความรู้สึกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารเท่านั้น แก้คำปรารภว่ามาจากประชาชน แค่นี้ก็ได้แล้ว นอกนั้นจะแก้รายมาตราก็แก้ไป
ฉะนั้นตนจึงบอกว่า ให้รีบแก้ปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนรอคอยรัฐบาลใหม่ แต่มองดูแล้วก็ยังไม่เห็นอะไร ตนจึงบอกว่าเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่กดดันให้นายเศรษฐา จะอยู่ได้หรือไม่ได้ ซึ่งไม่มีใครมากดดัน นอกจากตัวคุณเอง ที่จะต้องทำงานให้ผลงานเป็นที่ประจักษ์ หากผลงานไม่เป็นที่ปรากฏประชาชนก็จะกดดันทำให้คุณอยู่ไม่ได้
นายวันชัย ยังกล่าวถึงช่วงเวลาการลาพักร้อนของนายเศรษฐาที่ใกล้กับช่วงเวลาครบรอบ 120 วัน การพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ไม่รู้เหตุผลว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันหรือไม่ แต่เรื่องของนายทักษิณ ตนมองว่าไม่ได้ถึงกับเป็นประเด็นร้อน เพราะในทางการเมือง ก็รู้อยู่ว่านักการเมือง และพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลขึ้นอยู่กับนายทักษิณ และที่นายทักษิณได้มาถึงทุกวันนี้ก็เพราะมีเหตุผลพิเศษทางการเมือง อาจจะมีบางกลุ่มไม่พอใจ แต่จะไม่มีผลใดๆ ต่อการเป็นอยู่ของรัฐบาล ตนจึงหวังว่าถ้ากฎหมายนิรโทษกรรมสามารถทำให้บ้านเมืองเดินไปได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร คุ้มกับบ้านเมืองดีกว่าเรามาทะเลาะกัน จะเอาคนนั้น ไม่เอาคนนี้ แล้ว ให้สังคมมาเริ่มกันใหม่ แค่นี้ก็คุ้มแล้ว ดีกว่ามาตั้งแง่ตั้งงอนกัน เวลานี้เป็นโอกาสทางการเมืองของประชาชนแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีของนายทักษิณจะส่งผลกับรัฐบาลหรือไม่นั้น นายวันชัย กล่าวว่า แล้วแต่จะมอง คนเราอาจจะมี ภาวะ ฐานะ ที่มีสภาพไม่เหมือนกัน ตนก็ไม่ทราบถึงข้อมูลว่านายทักษิณป่วยหรือไม่ป่วยมากน้อยแค่ไหนเพียงไร จึงไม่ขอวิจารณ์ แต่ก็ควรชัดเจนว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ "ถ้าหากมัวอ้ำอึ้งก็อาจทำให้เกิดข้อสงสัย ไม่ว่าจะอยู่ที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจหรืออยู่ในเรือนจำ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้รัฐบาล ชุดนี้สั่นคลอนไปได้ และถ้าตัวผมเป็นคุณทักษิณ ผมจะเลือกเข้าไปอยู่ในคุก แล้วเดินออกจากคุก อย่างเท่ และสง่างาม จะไม่ทำให้คนคลางแคลงใจ" นายวันชัย กล่าว
ด้าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และรัฐบาลจะเสนอกฎหมายนี้ด้วย ว่า อยู่ที่สภาฯว่าจะได้ข้อยุติอย่างไร ส่วนที่มีส.ว.บางคนออกมาแสดงความเห็นนั้น ตนเห็นว่า ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ มีเพียงการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจะแก้ไขอย่างไร เรื่องนิรโทษกรรมตนยังไม่ได้ยิน เมื่อถามว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะแก้ความขัดแย้งได้หรือไม่ นายพรเพชร ถามกลับมาว่า เป็นความขัดแย้งของใคร ตอนนี้ยังมองไม่ชัดว่าเป็นความขัดแย้งในเรื่องใด แต่ถ้าเป็นเรื่องในสภาฯ ก็เป็นเรื่องตามปกติ สภาฯล่มบ้าง หรือขัดแย้งในมติที่ไม่เห็นด้วยของแต่ละฝ่ายในระบบของรัฐสภาก็คงไม่มีปัญหาอะไร
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า หนึ่งในข้อขัดแย้ง ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ครอบคลุมไปถึงความผิดมาตรา 112 นายพรเพชร กล่าวว่า เป็นประเด็นที่จะพูดว่าเป็นความขัดแย้งก็ไม่ได้ เป็นประเด็นที่มีความเห็นต่าง แน่นอนว่าในลักษณะแบบนี้ก็ต้องมีการเจรจาแก้ไขกันได้ว่าจะดำเนินการกันอย่างไร แล้วฝ่ายที่มีเสียงข้างมากย่อมได้เปรียบ เมื่อถามว่า ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ควรจะรวมมาตรา 112 ไปด้วยหรือไม่ ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ตนคงพูดไม่ได้ ไม่ขอให้ความเห็น เดี๋ยวหาว่าพูดไปแล้วจะกลายเป็นมติ
นายพรเพชร กล่าวถึงแบบสอบถามของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่มี นายนิกร จำนง เป็นประธาน ทางวุฒิสภาจะเปิดให้สมาชิกออกความเห็นอิสระใช่หรือไม่ ว่า เอกสารสอบถามมีเพียงไม่กี่ข้อ และได้แจกให้ ส.ว.ทุกคนก่อนเข้าห้องประชุม ดังนั้นไม่มีเรื่องอะไรที่ต้องซักถาม หรือปรึกษาอะไรกัน แต่หากส.ว.ปรึกษากันหรือพูดคุยกันเพียง 1-2 คน ก็คงมีแค่นั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร คงเป็นการตั้งความเห็นเหมือนที่ได้ตั้งข้อซักถามไว้ เรื่องก็คงมีแค่นี้ และสามารถส่งคืนได้เพราะขณะนี้มี 244 คนแล้ว จาก 250 คน ซึ่งต้องดูว่าในวันที่ 19 ธ.ค.จะส่งครบหรือไม่
เมื่อถามว่า จำนวนการทำประชามติที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าจะต้องศึกษาหลักเกณฑ์ที่มาถามส.ว.ถือเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น และในทางวิชาการต้องไปศึกษาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร และไม่ทราบว่าหาก สว.ส่งไป จะมีการแยกไว้ หรือรวมกัน
เมื่อถามถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญคาดว่าจะทำได้ตามไทม์ไลน์ ที่รัฐบาลวางไว้หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นไทม์ไลน์ที่ชัดเจน มีแต่การแสดงเจตนารมณ์ของฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ที่บางครั้งก็มีประเด็นเกี่ยวกับการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) และการร่างกฎหมายเอง ก็ต้องค่อยๆดูไป แต่คาดว่าจะมีการพิจารณาในเวลาไม่นานนี้ ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญไม่ว่าจะแก้กรณีใดก็ตาม คาดว่าจะได้ข้อยุติว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่พูดไปเรื่อยๆ ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิ เปิดเผยว่า ที่ประชุมจะพูดคุยเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ นายนิกร จำนง คณะอนุกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล โดยส่งแบบสอบถามเกี่ยวกับการทำประชามติ มาให้สมาชิกวุฒิสภาแสดงความคิดเห็น ซึ่งก็ถือว่าเป็นอิสระที่จะให้สมาชิกได้ตอบแบบสอบถาม โดยไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายแต่อย่างใด โดยเงื่อนไขของกฎหมาย การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก คือ
1.ต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องสอบถามประชาชน ซึ่งตามกฎหมายต้องทำอีกอย่างน้อย
2.หลังครั้งแรกผ่าน ครั้งที่สองจะเกิดขึ้น ในการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่เปิดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อฉบับนี้แล้วเสร็จจะต้องมีการทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง และการทำประชามติทั้ง 3 ครั้งตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องมีผู้ออกเสียงออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ และผลของประชามติก็ต้องเกินกึ่งหนึ่งเช่นกัน โดยได้ยินมาว่ามีส.ส.บางพรรคเสนอให้แก้ไขกฎหมายการทำประชามติ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเนื่องจากยังไม่เคยใช้กฎหมายฉบับนี้เลยตั้งแต่ปี 2564 หากจะไปสรุปว่าทำแล้วไม่สำเร็จ เหตุผลไม่เพียงพอ แต่หากจะแก้ไขต้องใช้ทั้งสองสภารวมกัน ซึ่งวาระของ ส.ว.ก็จะหมดแล้ว ดังนั้นการจะทำประชามติให้ผ่านทั้งสามครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้งการจะแก้ไขกฎหมายการทำประชามติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคำถามสำหรับการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของส.ว.เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ส่งมาสอบถามส.ว.มีจำนวนสองหน้า มีจำนวน 5 คำถาม โดยคำถามแรกถามว่าเห็นสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
2.ในกรณีที่เห็นว่าไม่สมควรจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เห็นสมควรแก้ไขเป็นรายมาตราหรือไม่
3.ในกรณีที่เห็นว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เห็นว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญมีปัญหาประการใดที่จำเป็นต้องแก้ไข
4. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เห็นว่าสมควรจัดตั้ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด หรือที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนด้วยวิธีการได้มาตามที่กรรมาธิการกำหนด
5.ในการจัดทำประชามติ เห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดให้มีการทำประชามติก่อนเริ่มดำเนินการใดใดในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดให้มีการทำประชามติ เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนนายกฯ จะนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ